สธ.ยันคนทำงานสัมผัสใกล้ชิดคนจีน หากป่วยมีอาการตรวจแล็บยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ฟรี แต่หากคนทั่วไปไม่เคยสัมผัสคนจีน ไม่เคยไปพื้นที่ระบาด ไม่ได้สัมผัสคนป่วย แต่แพนิคมาขอตรวจเองต้องเสียค่าใช้จ่าย แจงผู้ป่วยสอบสวนโรคยังอยู่ รพ.เยอะและนาน เพราะแม้ผลเป็นลบ แต่ยังมีอาการป่วย ต้องติดตามจนหายก่อน ชี้บางคนเชื้อในร่างกายต่ำในช่วงแรก แต่เพิ่มขึ้นภายหลัง ต้องติดตามต่อเนื่อง
วันนี้ (1 ก.พ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการขอตรวจยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ ว่า เรายืนยันไปแล้วว่า ผู้ที่ไม่ได้มีควมเสี่ยง แต่เกิดความวิตกกังวลจนเกินไป แล้วอยากมาขอตรวจยืนยันเชื้อ ตรงนี้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างที่ผ่านมาก็เคยพบว่ามีคนโทรศัพท์มาขอตรวจหลังกลับมาจากประเทศที่ไม่ได้ระบาด ถามว่าลักษณะแบบนี้ควรตรวจหรือไม่ ซึ่งก็ไม่น่าจะให้ตรวจ หรือใครอยู่จังหวัดห่างไกล เพิ่งเห็นข่าว เป็นหวัดพอดี ทั้งที่ไม่เคยสัมผัสคนจีนเลยมาขอตรวจกันเต็ม ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดความลำบาก ดังนั้น หากอยากจะมาตรวจก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนทำงานใกล้ชิดคนจีน ก็ตรวจให้ฟรี
เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยจีนตรวจเชื้อไม่พบในจมูกและคอ แต่ตรวจครั้งที่ 3 จึงพบจากน้ำในปอด ทำให้การเฝ้าระวังติดตามยากขึ้นหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โรคระบบทางเดินหายใจ ลักษณะจะไม่ห่างกันเท่าไร การเก็บตัวอย่าง คนไข้จะรู้สึก ไม่สะดวกสบาย เพราะต้องสอดลวดทางโพรงจมูกเพื่อเก็บตัวอย่าง ถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมือน้อย โอกาสจะได้ตัวอย่างที่เพียงพอก็น้อยตามไปด้วย นอกจากนี้ โรคบางโรคการเก็บตัวอย่างทางเดินหายใจส่วนล้างจะเจอเชื้อได้ง่ายกว่าจากข้างบน ขณะเดียวกัน คนไข้บางคนมีอาการปริมาณเชื้อในร่างกายระดับต่ำ โอกาสตรวจเจอเชื้อก็ต่ำตามไปด้วย แต่อาจจะมาเจอเชื้อเพิ่มมากขึ้นในวันหลัง วิธีการที่เราทำอยู่ทำให้หลุดมากหรือไม่ วิธีการที่ทำ คือ ถ้าคนไข้ตรวจให้ผลลบแล้วยังไม่หายจากอาการ เรามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอยู่ในรพ. 274 คน นี่คือ เหตุผลว่าทำไมเก็บไว้เยอะและนาน ตราบใดอาการไม่หมดก็ยังไม่ปล่อย ถ้าหายหมดโอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก ไวรัสที่จะออกมากับคนไข้ก็น้อยตามไปด้วย วิธีการที่ทำเราคำนึงถึงทุกอย่างแล้ว วิธีการที่ทำก็ดีที่สุดกับตอนนี้
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ส่วนที่ทำไมถึงไม่แถลงว่าคนไทยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศเป็นโรค ทั้งที่ได้รับผลแล็บแล้ว เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ เราเคยเจอคนไทยบางคนมีผลเป็นบวกมาก่อน แต่พอยืนยันซ้ำผลเป็นลบ คือ มีผลบวกปลอมอยู่ ถ้าฟันธงไปเลยว่าบวก แล้วตอนหลังไม่ใช่ แล้วมาบอกใหม่มาขอแก้ข่าวก็คงลำบาก ดังนั้น การจะบอกว่าคนไทยติดเชื้อในประเทศ คงไม่ตรวจครั้งเดียวแล็บเดียวผลเป็นบวก แล้วบอกทุกคนว่าบวกเลย เราต้องดูยืนยันอาการว่าใช่หรือไม่ ผลฟิล์มเอกซเรย์เป็นอย่างไร ไม่ได้ดูเรื่องผลแล็บอย่างเดียว ดูผลสอบสวนโรคว่ามีโอกาสใช่จริงๆ ตรวจซ้ำจนมั่นใจว่าไม่ใช่ผลบวกปลอม แล้วนำข้อมูลปรึกษาคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประชุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ตอนเช้า พอมั่นใจว่าเป็นผู้ป่วยคนไทยรายแรกติดเชื้อในประเทศ สธ.ก็ไม่รีรอ แถลงข่าวช่วงเย็นวันนั้นเลย การทำงานก็ทำทุกย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และไม่ใช่ว่าแถลงข่าวแล้วค่อยดำเนินการเรื่องอื่น แต่เรื่องอื่นดำเนินไปก่อนแล้ว เช่น สอบสวนโรค ติดจากไหนมา ผู้สัมผัส ไปพบปะใครบ้างหลังจากป่วย ดำเนินการไปทั้งที่ยังไม่ยืนยันว่าใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ทำมาก่อนก็โยนทิ้ง ถ้าใช่ก็จะตามต่อไปจนครบ 14 วัน ถามว่าช้าหรือไม่ อาจช้าในความรู้สึกสื่อ แต่เราทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว และพยายามจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยไปพร้อมกัน
เมื่อถามถึงกรณีคนจีนท่องเที่ยวตามสวนน้ำ มีโอกาสแพร่เชื้อในสระน้ำมากน้อยแค่ไหน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขึ้นกับปริมาณคลอรีนในสระ ถ้าคลอรีนได้ตามมาตรฐานโอกาสแพร่เชื้อจะต่ำมากๆ แทบจะใกล้ศูนย์ มีโอกาสหรือไม่ก็พอมี แต่โอกาสต่ำมาก