ขณะนี้มีการพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสอู่ฮั่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งในหลายเมืองของจีนและหลายประเทศ รวมถึงไทย แต่สิ่งที่ดีอย่างหนึ่ง คือ ผู้ป่วยที่พบยังเป็นการเดินทางหรือมีประวัติไปเมืองอู่ฮั่น ยังไม่ใช่การระบาดในเมืองนั้น
หากถามว่าโรคนี้ร้ายแรงหรือน่ากลัวแค่ไหน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่เรารู้จักมีอยู่ 6 สายพันธุ์เดิมที่เคยก่อโรคมาแล้ว คือ 2 สายพันธุ์ที่รุนแรง ได้แก่ โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของโรคซาร์สอยู่ที่ประมาณ 10% และโรคเมอร์สอยู่ที่ประมาณ 30% ส่วนอีก 4 สายพันธุ์ไม่มีความรุนแรง เพราะอัตราการเสียชีวิตมีไม่ถึง 1% โดยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ถือเป็นตัวที่ 7 ที่เพิ่งเจอใหม่ ส่วนความรุนแรงของโรคนั้นเรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมาก แต่เท่าที่ประเมินก็คาดว่าน่าจะค่อนมาทางไม่รุนแรงมากแบบ 4 สายพันธุ์ที่มีอยู่ แต่พอเป็นเชื้อใหม่ทุกคนมีความเสี่ยงเท่ากันหมด เพราะไม่มีใครมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากเป็นเชื้อเก่าเราอาจจะเคยติดมาเมื่อนานมากแล้ว ก็อาจมีภูมิคุ้มกัน
"แม้ทุกคนมีความเสี่ยงหมดจากเชื้อตัวใหม่ แต่ไม่ได้เสี่ยงที่จะเสียชีวิต ถ้าเป็นคนแข็งแรงเสี่ยงเป็นแล้วก็หาย แต่คนที่ต้องดูแลคือผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยมีโรคประจำตัว เด็กเล็กๆ ถามว่าน่ากลัวหรือไม่ ก็น่ากลัวในระดับหนึ่งในกำลังพอดี คือ ไม่ต้องกลัวเท่ากับเมอร์หรือซาร์ส แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำอะไรเลย" นพ.โสภณ กล่าว
หากเทียบกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่ประจำปีหรือประจำฤดูกาล อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.01% แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเป็น 0.1% มากกว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดา10เท่า ส่วนโรคอีโบลา ช่วงแรกที่ระบาดอัตราการเสียชีวิตสูงถึง95% แต่พอมีการระบาดในแอฟริกาตะวันตก และมีนักวิทยาศาสตร์เข้าไปให้การช่วยเหลือ อัตราการเสียชีวิตลดลงแต่ก็ยังสูงอยู่ดี คือ 50-60% ส่วนไข้หวัดนก เชื้อ H5N1 อัตราการเสียชีวิต 60% เชื้อ H7N9 ของจีน อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 30%
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะประกาศห้ามเดินทางเข้าออกเมืองอู่ฮั่นและเมืองใกล้เคียง แต่ขณะนี้ประเทศไทยก็ยังไม่มีการห้ามการเดินทางจากประเทศจีนทั้งหมด ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องปิดประเทศ ห้ามคนจีนเดินทางเข้ามา ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ส่วนที่ฮ่องกง ไต้หวัน ห้ามการเดินทางนั้น ก็เป็นมาตรการภายในของแต่ละที่ ไม่ควรเอามาเปรียบเทียบกัน เพราะแต่ละประเทศมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งมาตรการตอนนี้ของไทยถือว่าเพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนก็มีความพร้อมที่จะใช้มาตรการเข้มหรือรุนแรงขึ้นแน่นอน
สำหรับข้อกังวลว่าการไม่ปิดประเทศ ยังมีคนจีนเดินทางมา และจะมีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนไทย เพราะตอนผ่านด่านคัดกรองยังไม่มีไข้ อยู่ในระยะฟักตัวของเชื้อ และอาจมีอาการในภายหลัง ทำให้สามารถแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) อธิบายว่า โดยภาพรวมนั้นจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะฟักตัว ซึ่งเรากำหนดสูงสุด 14 วัน ตามประสบการณ์ที่เคยมี ระยะแพร่เชื้อ ซึ่งตามหลักการและทฤษฎี คือ ช่วงที่มีไข้เท่านั้นถึงแพร่เชื้อ และระยะหาย แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยังน้อยอาจจะต้องติดตามเพิ่มด้วย ส่วนการคัดกรองจะมี 3 จุด คือ สนามบิน ซึ่งหากพบว่ามีไข้ก็สามารถแยกตัวมารักษาและดำเนินการตรวจได้เลย แต่หากอยู่ในระยะฟักตัวของโรคแล้วผ่านจากสนามบินมาแล้วและเกิดมีอาการ เราก็มีมาตรการตรวจจับอีก 2 จุด คือ โรงพยาบาล และชุมชน ซึ่งเราประสานไปทางบริษัททัวร์ ไกด์ โรงแรมแล้วว่า หากมีอาการป่วยก็ให้รีบแจ้งโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ ยังมีการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่นักท่องเที่ยวทุกคน ซึ่งผู้ป่วยยืนยันที่เจอหลายราย เมื่อเขามีอาการป่วยเขาก็มาโรงพยาบาลตามคำแนะนำ ซึ่งโรงพยาบาลก็ช่วยเราคัดกรองอีกด่าน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่กังวลกันนั้น ยืนยันว่าเรามีการติดตามคนสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทุกคน แม้กระทั่งบุคลากรที่ดูแลรักษา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อ ทั้งที่บางรายเป็นแม่ลูก เป็นภรรยาสามี นั่งติดกันข้างหน้าข้างหลัง ใกล้ชิดกว่าคนทั่วไปอย่างเรา มีโอกาสติดมากกว่าก็ยังไม่ป่วย และตรวจไม่พบเชื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอกาส เพราะรายงานของจีนก็พบว่ามีการติดจากคนสู่คน แต่มาตรการรับมือเรายกระดับเป็นระดับ 3 คือ การติดต่อจากคนสู่คนอยู่แล้ว
ส่วนอาการตื่นตระหนกที่ตอนนี้คนส่วนใหญ่มองและตีขลุมว่า คนจีนทุกคนในไทยมีเชื้อแฝงไว้ก่อน และพยายามหลีกห่าง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การเหมาว่าคนจีนมีเชื้อไว้ก่อน ซึ่งบ้านเราคนเชื้อสายจีนเยอะจนแยกไม่ออก สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องรู้เท่าทันเวลาเจอคนจีนก็สังเกตได้ว่า มีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ บางคนมีน้ำมูกไหลเห็นชัดเจน ก็อย่าไปเข้าใกล้ นอกจากนี้ อาจจะหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนแออัด ก็สามารถลดความเสี่ยงได้ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนจีน หากรู้ว่าเขามาจากเมืองไหน เห็นว่าไม่สบายในพื้นที่ต่างจังหวัดก็แจ้งโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัด ส่วนใน กทม.ก็โทร.สายด่วน 1422 แต่ขอว่า อย่าแสดงอาการรังเกียจคนจีน เพราะการแสดงท่าทีรังเกียจน่ากลัว จะทำให้ผู้ป่วยยิ่งปกปิดตัวเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการคัดกรอง เพราะหากทำให้ผู้ป่วยปกปิดตัวเอง ก็อาจเกิดการแพร่กระจายได้
“คนตื่นตระหนกใน 2 มุม คือ ตื่นตระหนกในตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้น้อย เพราะทางจีนปิดเมืองอู่ฮั่นแล้ว แต่ถ้าต้องไปที่นั่นหรือมีลูกหลานอยู่ที่นั่นจะตื่นตระหนกก็เป็นเรื่องปกติ อีกมุมที่เป็นกันเยอะ คือ ตื่นตระหนกโดยที่ไม่มีความเสี่ยง เห็นประเทศอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมบ้านเราไม่ทำ ซึ่งประเด็นนี้ รมว.สธ.พูดชัดว่า สถานการณ์ไม่เหมือนกัน เรามีแผนที่เตรียมไว้ แม้กระทั่งหากมีการติดต่อในบ้านเรามาตรการวิธีการก็จะปรับไปด้วยตัวของมันเอง”
เช่นเดียวกับ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ที่ระบุว่า คนจีนที่เข้ามาในไทยไม่ได้แปลว่าจะต้องป่วยทุกคน ซึ่งในส่วนของคนจีนจะได้รับคำแนะนำทุกคน หากมีอาการป่วยก็ให้ทำตามคำแนะนำ ส่วนคนไทยไม่ต้องกังวลจนเกินไป หากคนจีนที่ไม่ได้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ การแพร่โรคจะต่ำมาก ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือหลีกเลี่ยงคนที่มีอาการ ไอ จาม ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของโรคติดต่อทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ยังไม่มีการระบาดของโรคนี้ในเมืองไทย จึงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่สิ่งสำคัญคือต้องฝึกปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย คือ หากป่วยก็สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ
การรับมือและป้องกันโรคนี้ กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำ คือ 1.ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นตามคำประกาศของทางการจีน 2.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ 3.ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม ผู้ที่มีอาการทางเดินระบบหายใจคล้ายไข้หวัด หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย 4.ปิดปากและจมูกเวลาไอจามด้วยกระดาษทิชชูหรือต้นแขนด้านใน 5.หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น 6.ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ 7.ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อน
นพ.สุวรรณชัย ย้ำว่า คำแนะนำดังกล่าวในช่วงนี้ถือว่าเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ การล้างมือบ่อยๆ เพราะว่ามือเราสามารถจับสิ่งต่างๆ ที่อาจมีเชื้อ พอเอามาลูบหน้าลูบตา เชื้อก็สามารถเข้าผ่านเยื่อบุต่างๆ ได้ เช่น เยื่อบุปาก เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เป็นต้น ส่วนการสวมหน้ากากอนามัย คนป่วยทางเดินหายใจสวมจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะเชื้อไวรัสจะออกมากับพวกสารคัดหลั่งเช่น น้ำลาย น้ำมูก การสวมจะช่วยกรองน้ำลาย น้ำมูกได้ ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ป่วยไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยก็ได้ แต่หากอยู่ใกล้คนป่วยอาจสวมก็ได้ แต่คงยังไม่ถึงขั้นที่ว่าทุกคนต้องใส่กันอย่างพร้อมเพรียง หากไม่ได้อยู่ในความเสี่ยง เพราะถ้าไม่เสี่ยงแต่ใส่พร้อมเพรียงกัน สิ่งที่ตามมา คือ ความขาดแคลน เหมือนช่วงไข้หวัดใหญ่2009 ที่ต้องการหน้ากากอนามัยมาก จนขาดแคลน ต้องช่วยกันทำหน้ากาก การตระหนักเป็นเรื่องดี จะได้ระวัง แต่การตระหนกจะเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้