กรมอนามัย ย้ำคนไทยตระหนักเรื่องฝุ่นพิษ แต่ยังป้องกันตนเองน้อย สะท้อนคนกรุงยังไม่ค่อยสวมหน้ากากป้องกัน ย้ำลดการสัมผัสฝุ่นให้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ค่าฝุ่นสีเหลืองต้องระวังแล้ว ยันมาตรการระยะสั้นต้องทำ ส่วนระยะยาวต้องค่อยดำเนินการ
วันนี้ (20 ม.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการรองรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบสุขภาพประชาชน ว่า ขณะนี้ยังต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1) เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ 2) เฝ้าระวังการเจ็บป่วย ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง ระบบตาและอื่นๆ รวมทั้งผลกระทบในระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง รวมถึงเฝ้าระวังและตอบโต้ข่าวที่เป็นเท็จ 3) สื่อสาร สร้างความรอบรู้ แก่ประชาชน โดยจัดทำชุดความรู้ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 4) ดูแลสุขภาพและจัดระบบบริการสาธารณสุข โดยสนับสนุนหน้ากากอนามัย 400,000 ชิ้น และเปิดคลินิกมลพิษในพื้นที่เสี่ยงครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพ จัดทำห้องปลอดฝุ่น จำนวน 83 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่หมอกควันภาคเหนือ จำนวน 82 แห่ง นนทบุรี 1 แห่ง ขณะที่ กทม.จัดตั้งคลินิกมลพิษ corner ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัด กทม. 68 แห่ง และ 5) มาตรการกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง โดยเชียงราย กำแพงเพชร และกทม.ได้ออกประกาศกำหนดแล้ว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ออกประกาศเรื่องค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพได้ใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ สีฟ้า 0–25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) สีเขียว 26–38 มคก./ลบ.ม. สีเหลือง 38–50 มคก./ลบ.ม. สีส้ม 51–90 มคก./ลบ.ม. และสีแดง 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป โดยหากพบค่าตั้งแต่ระดับสีเหลืองขึ้นไป กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานแทบจะทุกที่ แต่ประชาชนยังสวมหน้ากากอนามัยน้อยมาก สะท้อนว่าคนกรุงกำลังชินกับปัญหาหรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กรมอนามัยเคยสำรวจการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อปี 2562 พบว่า ประชาชนมีการรับรู้ และรู้เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กกันมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องของการป้องกันตนเองอาจจะยังไม่มากเท่าที่ควร เช่น การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งต้องขอย้ำว่า ขอให้ประชาชนลดการสัมผัสฝุ่นละอองให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
เมื่อถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาของรัฐเป็นแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด ไม่มีแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เรื่องมาตรการระยะสั้นเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการตรวจจับควันดำ การห้ามรถวิ่งต่างๆ เป็นต้น ส่วนมาตรการระยะยาว ทราบว่ามี 2 เรื่องคือการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์และน้ำมันที่ใช้ เหมือนกับที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ คาดว่ารัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนในมาตรการที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหามากขึ้น