xs
xsm
sm
md
lg

“ผ้าห่มผืนนั้น” จากความทรงจำในวันวาน สู่หนังสั้นรางวัลชนะเลิศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวมหัศจรรย์ที่มีคุณค่าต่อความทรงจำ
เมื่อ “ผ้าห่มผืนนั้น” ที่เด็กน้อยคนหนึ่งเคยได้รับในวัยเยาว์
ได้กลายเป็นวัตถุดิบแห่งเรื่องราวในหนังสั้นที่ทรงพลัง
จนถึงขั้นได้รับรางวัลชนะเลิศ...


จากโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งเดินทางมายาวไกลสู่ปีที่ 20 ไปแล้วนั้น ได้ก่อให้เกิดโครงการดี ๆ มีคุณค่าต่อสังคมตามมาอีกมากมาย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ โครงการประกวดภาพยนตร์ ขนาดสั้นระดับอุดมศึกษา ความยาว 3-5 นาที ภายใต้แนวคิด BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING “มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน”


และจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง คือน้อง ๆ นักศึกษาทีม LET จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ซึ่งมาพร้อมกับผลงานที่ชื่อว่า “ผ้าห่มผืนนั้น”

ในรอยยิ้มแห่งความดีใจและภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ “หมีซ้อ ตองเซ” หรือ “น้องซอล” หนึ่งใน 4 สมาชิกทีม LET ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปแห่งการก่อเกิดไอเดียในการผลิตหนังสั้นชิ้นนี้ขึ้นมาว่า เริ่มต้นจากการตีโจทย์ของโครงการที่มีผ้าห่มผืนเขียวเป็นสัญลักษณ์ และที่สำคัญ เธอเองซึ่งมีภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่บนดอย เป็นชาวเขาเผ่าอาข่า ซึ่งในวัยเด็ก ครอบครัวของเธอเคยได้รับ “ผ้าห่มผืนเขียว” จากคาราวานแห่งไออุ่นของไทยเบฟที่เดินทางขึ้นไปมอบให้บนดอยสูง

“จริง ๆ ตอนแรก เราก็ตีโจทย์ไม่ออก ก็ได้อาจารย์ที่ปรึกษาคอยแนะนำเราว่าผ้าห่มมันจะเป็นอะไรได้บ้าง มากกว่าผ้าห่มที่ให้ความอบอุ่น เราก็มาตีโจทย์ค่อนข้างนาน เพราะเราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ด้วย แต่สุดท้าย เราก็คิดย้อนไปถึงตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราได้รับผ้าห่ม ตอนเด็กเราเคยมีผ้าห่มผืนนี้อยู่ที่บ้าน และตอนนี้ผ้าห่มผืนนั้นก็ยังอยู่ที่บ้านเราด้วย เราก็เลยคิดว่าน่าจะเอาแง่มุมนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องของเรา”

เพราะ “ผ้าห่มผืนนั้น” เป็นอะไรได้มากกว่าการให้ความอบอุ่น... นั่นคือแก่นสารสำคัญที่หนังสั้นเรื่องนี้ต้องการส่งผ่านถึงผู้ชม ซึ่ง “ดาราฉาย กาโยงแว่น” หรือ “น้องใหม่” สมาชิกอีกคนของทีม บอกเล่าได้เห็นภาพ


“ผ้าห่มหนึ่งผืน เขาจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าใช้ผ้าห่มป้องกันความหนาวเย็น เช่นเอาคลุม เลี้ยงเด็ก ผูกเป็นเปลนอน เป็นผ้าห่มสารพัดประโยชน์มากค่ะในความคิดของหนู”

บนเส้นทางการทำงานย่อมมีอุปสรรค เช่นเดียวกับหนังสั้นเรื่องนี้ที่ใช้เวลาปั้นโปรเจคต์นานเป็นเดือน ๆ ขณะที่เวลาในการถ่ายทำ ก็สร้างความกดดันให้กับทีมพอสมควร โดย “น้องซอล” บอกเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานว่า...

“เนื่องจากข้อจำกัด ทั้งในส่วนของเวลา และนักแสดง รวมทั้งทีมงานที่ต้องหาเวลาที่ตรงกันให้เหมาะสม อีกทั้งเวลาในการถ่ายทำ ตอนแรก เราคุยกันไว้ว่าออกกองสองวัน แต่นักแสดงติดธุระ จึงต้องถ่ายวันเดียวให้เสร็จ กลายเป็นว่า เราต้องแข่งกับเวลา โลเกชั่นก็มีหลายที่ เราเริ่มเดินทางขึ้นดอยเพื่อไปออกกองตั้งแต่ตีสี่ และถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยตอนสามทุ่ม”

แต่ถึงแม้จะกดดันและเหนื่อยเพียงใด แต่สุดท้ายพวกเธอทั้ง 4 คนก็ฝ่าฟันจนผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจทั้งในแง่ของการได้รับรางวัล และการสืบสานและส่งต่อเรื่องราวแห่งการให้ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว”


“การได้ทำหนังสั้น ทำให้เราได้ใช้วิชาที่เราเรียนมาอย่างเต็มที่ด้วยค่ะ ได้ฝึกวิชาไปในตัว” นันทมาศ บอขุนทด หรือ “หวาย” เล่าพร้อมรอยยิ้ม “และที่สำคัญคือ เราดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแชร์เรื่องราวแห่งการให้ของไทยเบฟให้กับสังคมได้รับรู้เพิ่มเติม ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ว่า ยังมีหน่วยงานดี ๆ แบบนี้ที่มอบผ้าห่มและสิ่งดี ๆ อื่น ให้กับคนที่ขาดแคลน”

ขณะที่ “ณัฐยา รุ่งสิริพิพัฒน์” หรือ “เบียร์” ก็กล่าวในทำนองคล้าย ๆ กัน ว่า ... “ตั้งแต่เล็กจนโต เราได้รับมาเยอะ ไม่ว่าจะจากครอบครัว จากเพื่อน หรือจากสังคม หรือจากที่ใดก็ตาม ฉะนั้น สิ่งที่เราได้รับมา คือสิ่งที่ดี เราก็ควรส่งต่อการให้นี้ต่อไป คือมอบสิ่งที่ดีให้กับคนอื่น”

แน่นอนว่า หนึ่งคนที่ซาบซึ้งในคุณค่าแห่งการให้เป็นอย่างดี ก็คงหนีไม่พ้นเด็กน้อยชาวอาข่าในวันนั้น อย่าง “น้องซอล” ที่เติบโตพร้อมความทรงจำเกี่ยวกับผ้าห่มผืนเขียว ก่อนจะนำมาถ่ายทอดผ่านหนังสั้นเรื่องนี้

“หนูคิดว่า การให้การแบ่งปัน คือสิ่งที่คนในสังคมไทยทำกันอยู่แล้ว อย่างครอบครัวใกล้กัน ก็แบ่งอาหารให้กันกิน และบางครั้ง คนบางคนที่เราให้เขาไป เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราได้ให้เขาไป แต่ผู้รับ เขาจะรู้ว่าเขาได้รับมาและจะอยู่ในความทรงจำ เช่นในกรณีของหนูที่ได้รับผ้าห่มตอนเป็นเด็ก ถึงไทยเบฟเขาจะไม่รู้จักเรา แต่เราจำได้ว่าเขาเคยให้ผ้าห่มกับเรา คือเวลาที่เราให้อะไรกับใครบางคน บางทีเราไม่ได้มานั่งจดจำ แต่คนที่ได้รับ เขาจะจดจำสิ่งที่เราได้ให้เขา”

“ผู้รับจะจดจำผู้ให้” ผศ.ดร. เกศกนก ชุ่มประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของน้อง ๆ ทีม LET กล่าวย้ำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของไทยเบฟที่มีต่อสังคม


“ถึงแม้ผู้คนทั่วไปอาจจะมองว่า เรื่องผ้าห่มมันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สำหรับคนที่ได้รับนั้นมีความหมาย ทั้งในแง่ของความอบอุ่นทางกายและอบอุ่นทั้งหัวใจ นอกจากนั้น เมื่อเกิดโครงการประกวดหนังสั้น มันก็เหมือนกับการนำเรื่องราวแห่งการให้มาขยายและส่งต่อให้กับน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ ในคอนเซปต์ที่ว่า BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING และเป็นการประจวบเหมาะอย่างมากที่นักศึกษาเขาเคยได้รับจากไทยเบฟ แล้วนำมาผนวก มาถ่ายทอด กลายเป็นสตอรี่ เหมือนเป็นเส้นประที่เดินทางมาถึงกันโดยที่เราไม่คาดคิด มันกลายเป็นจุดสมบูรณ์ของหนังเรื่องนี้ที่มีที่มาที่ไปอันงดงาม และเป็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์และดีงามแห่งการให้ของไทยเบฟอย่างปฏิเสธไม่ได้”

ติดตามชมหนังสั้นเรื่อง “ผ้าห่มผืนนั้น” และภาพเบื้องหลังการทำงานของน้องๆทีม LET ได้ทาง เฟซบุ๊ก Thaibev

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)



กำลังโหลดความคิดเห็น