กพย.ชี้คนไทยตื่นตัวปัญหา "ยาปฏิชีวนะ" มากขึ้น หลังโหมรณรงค์หนัก เร่งกระตุ้นต่อเนื่องในปี 63 แนะยังต้องแก้ปัญหาเรื่องเฟคนิวส์ โฆษณาหลอกขายอาหารเสริม-ยาชุด ต้องสร้างความรอบรู้การใช้ยาให้ ปชช. เน้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่กินยาต่อเนื่อง ควรรู้จักเข้าใจยาที่กิน ทำหลักสูตรการใช้ยาเจาะกลุ่ม นร. ส่วน รพ.ควรแก้เรื่องการข้ามขั้นใช้ยาแรง
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล ว่า ตนมองว่าขณะนี้ประชาชนค่อนข้างตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น และหาข้อมูลสุขภาพมาดูแลตัวเองมากขึ้น สำหรับปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่ผ่านมาคนอาจคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะไม่ได้มีผลกระทบมากหรือเป็นรูปธรรมเท่ากับเรื่องของการเข้าถึงยา แต่ในปี 2562 มีการรณรงค์อย่างหนักในเรื่องของการใช้ยาปฏิชีวนะ ว่าหากเจ็บป่วยจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเลย ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องหนึ่งในเรื่องของการใช้ยาให้สมเหตุผล จากการประเมินถือว่าประชาชนมีความเข้าใจและตื่นตัวกันมากขึ้น แพทย์ก็เริ่มตื่นตัว เพราะประชาชนถามกันมากว่า จำเป็นต้องใช้หรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็อยู่ระหว่างการประเมินว่า ผลลัพธ์ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่ในปี 2563 ยังคงต้องกระตุ้นเรื่องนี้กันต่อ เพื่อไม่ให้ขาดหาย
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ส่วนการเดินหน้าส่งเสริมกรใช้ยาสมเหตุผลในปี 2563 นอกจากย้ำเรื่องการใช้ยาปฏิชีวินะให้ถูกต้องแล้ว เรื่องที่คิดว่าควรมีการส่งเสริมให้ใช้ยาอย่างถูกต้องมากขึ้นนั้น มองว่าต้องทำในเรื่องของ 1.ข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ด้านสุขภาพและการใช้ยามากขึ้น เพราะเป็นต้นเหตุของการใช้ยาไม่สมเหตุผล เช่น เรื่องของการโฆษณาขายอาหารเสริม ที่ลอบผสมยาอันตราย อย่างยาลดความอ้วนที่มีไซบูทรามีน ยาลดน้ำหนักตัวอื่นๆ หรือเรื่องของการขายยาชุด ที่มีทั้งสเตียรอยด์ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด ที่กระทบต่อกระเพาะและไต การผสมยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เป็นต้น 2.การกินยาเรื้อรังโดยไม่จำเป็น จนทำให้เกิดโรคไต เช่น การใช้ยาเอ็นเสดแก้ปวด ซึ่งนอกจากปัญหาในยาชุดแล้ว แม้แต่ในโรงพยาบาลเอง แพทย์ก็ยังมีการจ่ายยาเอ็นเสดบบระยะยาว เช่น 3 เดือน ซึ่งยาช่วยแค่บรรเทาอาการ แต่ไม่ได้หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น กระดูกผุจะยับยั้งอย่างไร ต้องผ่าตัดหรือไม่ หรือทำกายภาพร่วมด้วย ซึ่งการกินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะเกิดปัญหาตามมาได้ 3.การสั่งจ่ายยาข้ามขั้น เช่น กลุ่มยาลดไขมัน ที่บางครั้งให้ไปกินยาแรง และแพงกว่า ยากลุ่มเอ็นเสด รวมไปถึงเรื่องของการส่งเสริมการขายยาในโรงพยาบาล ที่มีผลกระทบต่อแพทย์ในการเลือกสั่งจ่ายยา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมานาน และมีการออกระเบียบในเร่องเหล่านี้ ก็ยังคงต้องมาเน้นย้ำเช่นกันในปี 2563
"การดำเนินงานเรื่องใช้ยาสมเหตุผล น่าจะแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ 1.การทำงานกับโรงพยาบาล เพื่อให้มีการจ่ายยาที่สมเหตุสมผลขึ้น ทั้งเรื่องของยาปฏิชีวนะที่ต้องเดินหน้าต่อเนื่อง การสั่งยากลุ่มต่างๆ ที่ควรจะเป็นไปตามลำดับยา เหมาะสมกับอาการ ไม่ข้ามขั้นไปใช้ยาแรง และ 2.การทำงานกับชุมชน ซึ่งจะต้องมาเน้นในเรื่องของความรอบรู้ทางสุขภาพและการใช้ยา เพื่อให้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับชาวบ้านให้สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ โฆษณาไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการโฆษณามาลักษณะเช่นนี้ เป็นข่าวปลอมแน่ๆ ดังนั้น โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้ รวมถึงอาจจะต้องเข้าไปในโรงเรียนเพื่อให้ความรู้นักเรียนในการใช้ยาด้วย อาจต้องทำเป็นวิชาหรือหลักสูตรเพิ่มเติม" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า การสร้างความรอบรู้เรื่องยา น่าจะทำใน 2 แบบ คือ การให้ความรู้ทั่วไปเรื่องยาโดยรวม และการยาจำเป็นที่จะต้องใช้ อาจรู้เฉพาะยาไม่กี่ตัวก็ได้ อย่างทุกวันนี้คนป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกันมาก ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่ายาที่แพทย์สั่งให้เรากินคือยาอะไร ชื่ออะไร ใช้รักษาโรคอะไร กันแน่ มีอันตรายหรือไม่ กินแบบไหน ห้ามกินแบบไหน ยาปฏิชีวนะต้องกินให้ครบ กินก่อนหลังอาหารมีความหมายอย่างไร อาการรุนแรงไม่ปพึงประสงค์ต้องทำตัวอย่างไร เหมือนอย่างกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่แรกๆ ไม่รู้จักยาเลย และเกิดปัญหายาตักันมาก แต่เมื่อรวมกลุ่มรวมตัวกัน ตอนนี้ก็มีความรู้เรื่องการใช้ยาของตัวเองเป็นอย่างดี และให้ความรู้กันในเครือข่าย
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เองก้มีการประกาศให้เป็นแผนบริการสุขภาพในเรื่องของการใช้ยาสมเหตุผลในชุมชน ซึ่งมีกาปรระชุมหารือแนวทางการดำเนินงานกันไปเมื่อวันที่ 24-25 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้พื้นที่เตรียมความพร้อมและสำรวจปัญหา นอกจากนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติยังเห็นชอบในเรื่องของการใช้ยาสมเหตุผลในระดับประเทศด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและคิดว่าคงมีการขับเคลื่อนกันอย่าต่อเนื่องในปี 2563 ทั้งนี้ ในวันที่ 26-28 ม.ค. จะจัดงานการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผลนานาชาติ ที่เป็นการประชุมขององค์กรวิชาการต่างประเทศร่วมกับ กพย. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหลายองค์กร เชิญชวนนักวิจัยมาแลกเปลี่ยน สะท้อนสถานการณ์ หามิติทำความเข้าใจ ทำไมปัญหาเรื่องการใช้ยาต่างๆ ถึงยังอยู่ และหาตัวอย่างความสำเร็จดีๆ มาแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก็คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานแก้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลมากขึ้นในปี 2563