xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวระบบ CRS รับเรื่องร้องเรียนละเมิดสิทธิด้านเอดส์ นำร่อง 14 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เปิดตัวระบบ CRS รับเรื่องร้องเรียนละเมิดสิทธิด้านเอดส์ ผ่านทางออนไลน์ นำร่องพื้นที่ 14 จังหวัด ส่งข้อมูลแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาจัดการเหตุได้รวดเร็ว เตรียมขยายผลพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในอนาคต

วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสฯ จ.นนทบุรี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบกลไกการดำเนินงานลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ผ่านระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ (Crisis Response System : CRS) ในพื้นที่ต้นแบบ 14 จังหวัด ว่า ระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ (CRS) มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ 1) Tools คือ เครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน เช่น เว็บไซต์ช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ 2) Team ทั้งทีมดำเนินงานเชิงรุกในพื้นที่ ทีมรับส่งต่อ และ 3) Mechanism โครงสร้างกลไกการทำงานที่เชื่อมโยงตั้งแต่จุดรับเรื่องไปจนถึงการผลักดันเชิงนโยบาย โดยระบบ CRS เป็นช่องทางให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิด้านเอดส์และเพศสภาวะ เช่น ถูกบังคับตรวจเอชไอวี ถูกเปิดเผยผลเลือด ถูกกีดกัน/เลือกปฏิบัติ เป็นต้น เข้ามาร้องเรียนผ่านทาง crs.ddc.moph.go.th เป็นช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงสะดวก ใช้งานง่าย จากนั้นเรื่องร้องเรียนจะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่เชิงรุกในพื้นที่เกิดเหตุทันที ด้วยระบบแจ้งเตือน (Alert) เพื่อให้เข้ามาจัดการเหตุได้รวดเร็ว

ทั้งนี้ ในระยะแรกของการพัฒนามีเจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคมจาก 7 องค์กร ร่วมดำเนินการเป็นทีมนำร่อง คือ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) กลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้งพะเยา มูลนิธิรักษ์ไทย (RTF) สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล : บ้านสุขสันต์ (STM) และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย (TNP+) ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ พะเยา กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ อุบลราชธานี ตราด ชลบุรี ระยอง สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งรูปแบบการปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ด้วยระบบ CRS ที่มีภาคประชาสังคมร่วมเป็นเครือข่ายนี้ เป็นการดำเนินงานปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์มิติใหม่ ที่จะสามารถเข้าถึงและช่วยเหลือประชาชนแบบเชิงรุกมากขึ้น เพราะภาคประชาสังคมแต่ละแห่งมีจุดเด่นในการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่เข้าถึงได้ยาก และผู้ร่วมทีมทุกท่านได้ผ่านการอบรมเบื้องต้นในการเป็นนักปกป้องคุ้มครองสิทธิมาแล้ว

"สำหรับทิศทางการพัฒนาระบบ CRS จะเป็นการพัฒนารูปแบบและจัดทำเป็นโมเดลกลไกส่งเสริมปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และการจัดการเรื่องร้องเรียนระดับจังหวัด ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐ ให้การช่วยเหลือประชาชนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากนั้นจะขยายระบบไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับเอดส์และเพศสภาวะได้" นพ.สุวรรณชัย กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น