xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีไม่เคยเอาผิดคนขาย "น้ำเมา" ให้เด็ก สธ.จับมือ สตช.บังคับใช้ กม.จริงจังปีใหม่นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.จับมือ สตช. ลั่นเอาผิดคนขายเหล้าให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี หลังมีกฎหมายมากกว่า 10 ปีแต่ไม่เคยบังคับใช้ ชี้หากเกิดอุบัติเหตุให้ รพ.ตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย หากเกิน 20 มิลลิกรัมเปอรเซ็นต์ ให้ส่งข้อมูลถึงตำรวจ ประกอบสำนวนทำคดี ลากตัวคนขายเหล้าให้เด็ก ส่งฟ้องศาลเอาผิด เผยมีโทษคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ยันทำตลอดปี ไม่ใช่แค่ปีใหม่ "อนุทิน" เผย รพ.เตรียมพร้อมดูแลปชช. 24 ชั่วโมงช่วงปีใหม่แล้ว แต่ขอให้รอเก้อ เป็นแม่สายบัว ไม่มีคนเกิดอุบัติเหตุมาใช้บริการ

วันนี้ (18 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และผู้บริหาร สธ. ร่วมกันแถลงข่าว “สธ.ใส่ใจคนไทย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย” เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2563


นายอนุทิน กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่เป็นเทศกาลแห่งความสุข สนุกสนาน แต่มักมาควบคู่กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจริงๆ แล้วอยากให้ปรับความคิดว่า ความสุขสามารถสร้างได้เมื่ออยู่ท่ามกลางพ่อแม่พี่น้องลูกเมียหรือเพื่อน คือ ความสุขที่แท้จริงโดยไม่ต้องพึ่งสุรา อบายมุขอื่นใด หากมีสิ่งแปลกปลอมในร่างกายก็อาจจะทำให้ความสุขกลายเป็นความทุกข์ และอาจทุกข์ไปตลอดชีวิต ลดโอกาสใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และความสนุกของเราจากการดื่มอาจไปก่อให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นได้ด้วย โดยเฉพาะดื่มแล้วไปขับขี่ยานพาหนะจเกิดอุบัติเหตุ หรือทำสิ่งใดๆ ที่นอกลู่นอกทาง ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยและกังวลอย่างมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเยาวชน เพราะจะเห็นได้ว่าคนที่เกิดอุบัติเหตุพิการบางทีเป็นคนอายุน้อย ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจดีว่า การลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้เป็นศูนย์เลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก แต่ขอให้ร่วมมือกันลดให้ได้มากที่สุด โดยในส่วนของ สธ.จะมีการเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ มีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการประสานเรื่องนี้ มอบหมายให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และสายด่วน 1669 เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และมอบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นตัวอย่างสังสรรค์ปีใหม่อย่างสร้างสรรค์ ตั้งด่านชุมชนเตือและสกัดคนเมาแล้วขับไม่ให้ออกสู่ถนน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ก่อปัญหาแค่ตัวเอง แต่กระทบคนอื่นด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องเข้มงวดกวดขันเรื่องการจัดโปรโมชัน ส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แฝงตามงานรื่นเริง ตามสตรีทฟู้ดต่างๆ ด้วย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตนได้รับข้อมูลที่สำคัญ จากมูลนิธิเมาไม่ขับว่า ขอให้ สธ.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายเอาผิดคนที่ขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยมีกฎหมายระบุว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หากเข้าถึงหรือดื่มสุราไม่ผิด แต่ร้านค้าหรือผู้ที่ให้สุรานั้นผิด ผู้ใหญ่ที่ให้เด็กดื่มก็ต้องผิดด้วย ถือว่าเป็นการระงับปัญหาที่ต้นทางได้ดี เพราะเด็กอาจถูกมอมเมาหรือถูกเร้าให้ดื่มจากข้ออ้างหรือคำท้าต่างๆ ซึ่งจริงๆ เมื่อเด็กไปซื้อ ร้านค้าขายไม่ได้ แต่สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ คนก็มักง่ายกัน พอขายไปก็เกิดสิ่งที่ไม่ควรเกิด อย่างไรก็ตาม จะต้องพยายามบังคับใช้กฎหมายเอาผิดคนที่ขายสุราให้เด็กอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระได้อย่างมาก และจะมีการการตรวจเลือดเด็กที่เกิดอุบัติเหตุส่งมา รพ.เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย และส่งผลไปยังตำรวจเพื่อประกอบทำสำนวน โดยการตรวจเลือดหาแอลกอฮอล์ไม่ได้ทำแค่ช่วงปีใหม่ แต่ทำทั้งปี ไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณ เพราะกรมควบคุมโรคได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเลขสวยและกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใข้รถใช้ถนน (กปถ.) มาดำเนินการ

"สธ.พร้อมดูแลประชาชน แต่อย่าให้พวกเราดูแลเป็นดีที่สุด ขอให้พวกเราได้รอเก้อ ได้แต่งตัว ถืออุปกรณ์การแพทย์แล้วเก้อ เป็นแม่สายบัว ไม่มีใครมาเข้ารับบริการแม้แต่คนเดียว ขอสาปแช่งพวกเราเองให้เป็นอย่างนี้ เรายินดีที่จะรอเก้อ ยินดีที่จะไม่มีลูกค้าแม้แต่คนเดียว เรายินดีให้รพ.เงียบเหงา ปลอดภัยจากผู้ประสบอุบัติเหตุเข้ามา" นายอนุทินกล่าว


นายสาธิต กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลในช่วงปีใหม่ พอเมาแล้วทะเลาวิวาทและตามมาตีกันใน รพ. ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ทำหนังสือส่งถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอให้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจท้องที่จัดส่งกำลังอย่างเพียงพอต่อการระงับเหตุ ให้เข้ามาดูแลใน รพ.อย่างรวดเร็วหลังได้รับการแจ้งจากรพ.

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น นอกจากการเอาผิดผู้ขายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แล้ว ก็จะเอา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เข้ามาดำเนินการเอาผิดกับคนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย ทั้งนี้ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในที่เกิดเหตุได้ ก็ให้เครือข่ายรพ.เป็นผู้ดำเนินการตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ได้ หรือแม้แต่กรณีที่เกิดเหตุแล้วชาวบ้านนำส่ง รพ.เอง ก็ขอให้รพ.ตรวจเลือด และรวบรวมข้อมูลส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยกรณีเด็กที่ถือว่าเมาคือมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ใหญ่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท แต่ความผิดจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยุ่กับการพิจารณาของศาลในแต่ละคดี สำหรับเรื่องการตีกันใน รพ. ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีมาตรการเข้าไประงับเหตุ และยังมีการคาดโทษกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้เกิดเหตุอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตนจะกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศดำเนินการอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และให้แวะเวียนเข้าไปช่วยเหลือที่ด่านชุมชนด้วย 

นพ.สุขุม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลางและระดับจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,336 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 21,878 คัน ผู้ปฏิบัติการ 164,470 คน เพิ่มบุคลากรมากขึ้นจากเดิม 120-130% สำหรับประชาชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุสามารถเข้า รพ.รัฐได้ทุกแห่งไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากเป็นอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาฟรีช่วง 72 ชั่วโมงแรก ตามโครงการเจ็บป่วยทุกที่ ดีทุกสิทธิ หรือสิทธิยูเซปได้ ส่วนเรื่องการตีกันในรพ.นั้น ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้นำส่งคนเจ็บจากเหตุทะเลาะวิวาท นั้นขอให้แยกคู่กรณีไปรพ.คนละแห่ง เพื่อป้องกันการตีกันในรพ.ด้วย หากเกิดขึ้นแล้วเราจะเอาผิดทุกกรณี ล่าสุดที่ศาลได้สั่งจำคุกคนก่อเหตุตีกันในรพ.ที่จังหวัดอ่างทอง 3 เดือนไม่รอลงอาญาแล้ว  

นพ.แท้จริง กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีการเอามาบังคับใช้เลย ซึ่งจากข้อมูลเมื่อปี 2562 เราพบว่ามีเด็กอายุ 11 ขวบเมา แล้วปั่นจักรยานมาเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ ซึ่งเด็กไม่ผิด แต่คนขายคือคนผิด และจากข้อมูลที่ได้จากเหยื่อเมาแล้วขับที่เป็นเยาวชนก็บอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกฎหมายห้ามขายให้เด็ก เพราะไปซื้อเมื่อไร คนขายก็ขายให้ตลอด จนกระทั่งเขาเมา เกิดอุบัติเหตุต้องกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต ดังนั้นเป็นเรื่องน่ายินดีที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังเสียที ซึ่งโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท เอาให้สุดเลยคือจำคุก






กำลังโหลดความคิดเห็น