ปลัด สธ.ปล่อยขบวนผู้บริหารแบ่งเส้นทางลงพื้นที่ ตรวจควาพร้อม รพ.รับมือช่วงปีใหม่ กำชับจัดเวร เพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เตรียมยาและเวชภัณฑ์ สำรองเตียง เลือด ออกซิเจน ด้าน สบส.ย้ำ รพ.เอกชนเข้มมาตรฐานส่งต่อผู้ป่วย ประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องโปร่งใส แม่นยำ หากวิกฤตสีแดงห้ามเก็บเงิน ใช้สิทธิยูเซปรักษาฟรี 72 ชม.
วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังปล่อยขบวนผู้บริหาร สธ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมโรงพยาบาลดูแลประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ตามเส้นทางถนนสายหลักและสถานที่ท่องเที่ยว อาทิ สระบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ระยอง ชลบุรี สงขลา สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ว่า ช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ ได้ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่บนถนนสายหลัก และสถานที่ท่องเที่ยว จัดเวร เพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน บูรณาการการทำงานกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ร่วมให้บริการที่จุดบริการประชาชนกับหน่วยงานที่ สำหรับโรงพยาบาลได้จัดระบบห้องฉุกเฉินคุณภาพ ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการหมายเลข 1669 รับเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็ว รถพยาบาลต้องได้มาตรฐาน เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอ.ซี.ยู. สำรองเตียง เลือด ออกซิเจน อุปกรณ์การแพทย์ ศูนย์ส่งต่อ พร้อมให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง มีจำนวนพนักงานขับรถยนต์ที่ผ่านการอบรมตามจำนวนระยะที่กำหนด และตรวจวัดแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยกรณีผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บให้ดำเนินการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย
นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มมาตรการป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล โดยให้ทุกจังหวัดประสานตำรวจท้องที่ออกตรวจตรา และให้รีบแจ้งเหตุกรณีมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท ส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน โดยจะดำเนินคดีผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม สำหรับการมาเยี่ยมโรงพยาบาลสระบุรีและลพบุรี ซึ่งอยู่ในเส้นทางหลักสู่ภาคอีสาน โดยโรงพยาบาลสระบุรีได้เตรียมความพร้อมดูแลผู้บาดเจ็บ เพิ่มจำนวนบุคลากร แพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาล เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ สำรองเลือด ยาและเวชภัณฑ์ เตียงผู้ป่วยเพิ่ม เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด รวมทั้งมีระบบเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุระหว่างโรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลใกล้เคียง อาทิ โรงพยาบาลพระพุทธบาท โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช โรงพยาบาลนครนายก
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ช่วงปีใหม่หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากล่าช้าไปแม้เพียงนาทีเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมา สธ.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2545) เรื่องมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย ให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งถือปฏิบัติให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องส่งต่อผู้ป่วยด้วยยานพาหนะและวิธีการที่เหมาะสมปลอดภัย ยานพาหนะในการส่งต่อผู้ป่วยจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีพที่จำเป็น อาทิ ชุดใส่ท่อหายใจ ชุดให้ออกซิเจน เครื่องวัดความดันโลหิตและหูฟัง เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ มีความมั่นคงแข็งแรงและมีความสะดวกสบายต่อผู้ป่วยในการเดินทาง และหากเป็นกรณีการรับผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินจะต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพมาดูแลผู้ป่วยด้วยทุกครั้ง หากสถานพยาบาลปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมให้ยานพาหนะในการขนส่งผู้ป่วยมีอุปกรณ์ที่จำเป็นหรือจัดแพทย์ออกไปให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินในระหว่างการนำส่งจากที่พักมายังสถานพยาบาลหรือนำส่งระหว่างสถานพยาบาลด้วยกัน ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการก็จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า เมื่อนำส่งผู้ป่วยถึงสถานพยาบาลแล้ว ขอให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยให้พ้นอันตรายและปฏิบัติตามกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด มีการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ โดยใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหลักในการประเมิน เพื่อให้การประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งหากผลการประเมินพบว่าผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลจะต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ หากพบสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หากอยู่ในเขต กทม.สามารถร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 และในส่วนภูมิภาคร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป