xs
xsm
sm
md
lg

"ผ้าอนามัย" ทุกชนิดเป็น "เครื่องสำอาง" ทั้งหมด แต่ออกประกาศเฉพาะ "ชนิดสอด" เพราะหลุดนิยาม กม.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ้าอนามัยธรรมดาและชนิดสอด เป็นเครื่องสำอางทั้งคู่ แจงที่ต้องออกกฎกระทรวงให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางโดยเฉพาะ เพราะหลุดจากนิยาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558

จากกรณีที่ น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวหาว่ารัฐบาลตัดสินใจให้ "ผ้าอนามัย" เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เก็บภาษีในอัตราสูงถึง 40% และไม่ควบคุมราคา ขณะที่กรมสรรพสามิตระบุว่า ผ้านอนามัยเป้นสินค้าควบคุมตั้งแต่ปี 2551 และไม่เคยเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้หญิง โดยภายหลัง น.ส.เกศปรียา ระบุอีกว่า ผ้าอนามัยชนิดสอดถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง และเครื่องสำอางถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยผ้าอนามัยทุกชนิดไม่ควรเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยนั้น

เรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยชี้แจงถึงประเด็นการออกร่างร่างกฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง ว่า ผ้าอนามัย ทั้งชนิดที่ใช้ภายนอกและชนิดสอด จัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2528 นับตั้งแต่ มี พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2535 เพราะเข้าได้กับนิยามเครื่องสำอาง คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย โดยไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

ส่วนสาเหตุที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางโดยเฉพาะ เนื่องจากเมื่อครั้งออก พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ใหม่ คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏหรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิว แต่ไม่รวมเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว

จึงทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง เพราะนิยามกำหนดชัดว่า เป็นการใช้ภายนอกร่างกายมนุษย์ แต่ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นการใช้ภายในร่างกายมนุษย์ จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้กลับมาครอบคลุมอีกครั้ง

แม้ตัวผ้าอนามัยชนิดสอดจะหลุดจากคำนิยามตามกฎหมายของเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2558 แต่ในทางปฏิบัติ การขอจดแจ้งก็ยังเป็นเครื่องสำอางอยู่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องออกกฎกระทรวงเพื่อให้เข้าได้กับนิยามตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ผ้าอนามัยชนิดธรรมดา จะเป็นเครื่องสำอาง แต่ก็เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศด้วย จึงไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย และส่วนผ้าอนามัยชนิดสอด ที่เป็นเครื่องสำอางเช่นกัน กรมสรรพสามิตระบุว่า ไม่เคยจัดเก็บภาษีเครื่องสำอางเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น