xs
xsm
sm
md
lg

“พรรคเพื่อชาติ” โวย “ประยุทธ์” ให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ที่แท้เป็นสินค้าควบคุมตั้งแต่ปี 51

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - โฆษกพรรคเพื่อชาติ ด่า “ประยุทธ์” อ้าง ครม.จัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ควบคุมราคา หยันต้องให้ผู้หญิงวิ่งไล่ลุงหรือ พบมาจากรายการช่องวอยซ์ทีวี อ้างมติ ครม.ปี 61 ให้ผ้าอนามัยอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ทั้งที่ อย.บอกว่าที่ออกกฎหมายเพราะนิยามคำว่าเครื่องสำอางไม่ครอบคลุม พบเป็นสินค้าและบริการควบคุมไปแล้วตั้งแต่ปี 51

วันนี้ (16 ธ.ค.) น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ฝากถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมว่า เอาพื้นฐานความรู้อะไรตัดสินใจให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เก็บภาษีในอัตราสูงและไม่ควบคุมราคา ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ควบคุมราคา ไหน พล.อ.ประยุทธ์ คุยนักหนาว่าตนเองอ่านหนังสือเยอะรู้ทุกเรื่อง แต่เรื่องแค่สิทธิพื้นฐานของประชากรสตรีทำไมถึงไม่ทราบ ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าเครื่องสำอางหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์หามาใช้เพื่อสนองความต้องการทางใจ เป็นสินค้าที่สนองความต้องการทางกายภาพของเพศหญิง ผู้หญิงทั่วโลกไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเกิดมาโดยไม่มีมดลูก และประจำเดือนก็เป็นสิ่งที่ติดมาพร้อมการมีมดลูก

“ผ้าอนามัยควรถูกมองว่าเป็นสินค้าจำเป็นต่อสุขภาพอนามัย ไม่ใช่คิดแค่ว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้หญิง รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มองประชาชนเท่าเทียมไม่กดขี่ทางเพศ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของทุกเพศ ผ้าอนามัยคือสินค้าจำเป็นกับการดำเนินชีวิตสตรี รัฐบาลควรจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษี หรือแจกฟรีในสถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่ใช่มาจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ถึง 40% โดยไม่ควบคุมราคา ทำให้ในแต่ละเดือนประชากรสตรีต้องมีค่าใช้จ่ายในการในการซื้อผ้าอนามัยที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิต 200-400 บาทใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจโดยไม่คิดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรี ต้องการให้ประชาชนสตรีออกไปวิ่งไล่ลุงใช่หรือไม่”

MGR Online ตรวจสอบที่มาที่ไปของข่าว พบว่ามาจากรายการมองโลกมองไทย ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมวอยซ์ทีวีของตระกูลชินวัตร ที่ออกมากล่าวในหัวข้อ “ทำไมไทยยังเก็บภาษีจากผ้าอนามัย” ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดย นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข, นายวิโรจน์ อาลี และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อ้างว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ให้ผ้าอนามัยทั้งแบบใช้ภายนอกและแบบสอดถูกจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งจะต้องเสียภาษี ทำให้ผ้าอนามัยที่ขายอยู่นั้นถูกบวกภาษีเข้าไป และรัฐไม่เข้าควบคุมราคาด้วย



โดยทีมงานบอกว่า ในแต่ละเดือนจะมีประจำเดือนประมาณ 3-4 วัน เฉลี่ยแล้วจะใช้ประมาณ 10-12 แผ่น เท่ากับวันหนึ่งต้องใช้หลายชิ้น ส่วนเว็บไซต์เดอะแมทเท่อ เข้าไปสำรวจราคาผ้าอนามัยพบว่ามีราคา 12-80 บาทต่อห่อ โดยผ้าอนามัยมีทั้งผลิตในประเทศไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ นายชูวัส กล่าวว่า ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่ครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่รายได้น้อย ผู้หญิงบางคนอาจจะต้องอดข้าวกลางวันเพื่อนำไปซื้อผ้าอนามัย หรือที่แย่กว่าอาจจะต้องหยุดเรียนในวันที่มีประจำเดือน

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัย 18 ประเทศ พบว่า แต่ละเดือนผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6% ของเงินเดือนเพื่อซื้อผ้าอนามัยมาใช้ แต่ละเดือนผู้หญิงจะมีประจำเดือนประมาณ 5-7 วัน หรือโดยเฉลี่ย 60-84 วันต่อปี ตามหลักสุขภาพควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชั่วโมง เท่ากับว่าในหนึ่งวันต้องใช้ผ้าอนามัย 5-6 แผ่น หรือประมาณ 25-40 แผ่นต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 200-400 บาทต่อเดือน และเมื่อเริ่มมีประจำเดือนผู้หญิงจะต้องซื้อผ้าอนามัยใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดประจำเดือน รวมแล้วประมาณ 12,000 แผ่น คิดเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี พบว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 หรือเมื่อ 1 ปีก่อน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ. ... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สุขอนามัย และความปลอดภัยของผู้ใช้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ขณะนั้น นายสมชัย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้เหตุผลว่า เมื่อครั้งที่ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขนิยามคำว่าเครื่องสำอางใหม่ คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฎหรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิว แต่ไม่รวมเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว ทำให้ผ้าอนามัยแบบสอด หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง เพราะในนิยามกำหนดว่าใช้ภายนอกร่างกายมนุษย์ แต้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นการใช้ภายในร่างกายมนุษย์ จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้กลับมาครอบคลุมอีกครั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติการขอจดแจ้งยังเป็นเครื่องสำอางอยู่ และการควบคุมมาตรฐานของผ้าอนามัยยังคงเดิม

ส่วนการค้นหาข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 เม.ย. 2562 พบว่าไม่มีเรื่องที่คณะรัฐมนตรี มีมติจัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ควบคุมราคา ตามที่โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวอ้างแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค. 2561 โดยเห็นควรปรับเพิ่มรายละเอียดรายการสินค้าและเพิ่มรายการสินค้าควบคุมบางรายการ เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม โดยกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าและบริการควบคุม หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค รายการที่ 31 เช่นเดียวกับกระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ สบู่ก้อน สบู่เหลว

เมื่อย้อนไปในอดีตพบว่า ผ้าอนามัยถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม นับตั้งแต่ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ปี 2551 ตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2551 เป็นต้นมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้ตีพิมพ์ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๖๒ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยพบว่าผ้าอนามัยยังคงเป็นสินค้าควบคุม ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อันดับที่ 31












กำลังโหลดความคิดเห็น