อย. เผย “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากนิยาม “เครื่องสำอาง” ตามกฎหมาย จนต้องร่างกฎกระทรวงเสนอ ครม. ระบุ กระบวนการผลิต นำเข้า และขายยังเหมือนเดิม ห้ามปนเปื้อนเชื้อ 4 ชนิด ย้ำไม่ควรใส่นานเกิน 8 ชั่วโมง เสี่ยงติดเชื้อได้
วันนี้ (18 เม.ย.) ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ. ... ว่า จริงๆ แล้วผ้าอนามัย ทั้งชนิดที่ใช้ภายนอกและชนิดสอด จัดเป็นเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2528 นับตั้งแต่ มี พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2535 เพราะเข้าได้กับนิยามเครื่องสำอาง คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย โดยไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
ภก.สมชาย กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอางโดยเฉพาะนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งออก พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ใหม่ คือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏหรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิว แต่ไม่รวมเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว จึงทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง เนื่องจากนิยามกำหนดชัดว่าเป็นการใช้ภายนอกร่างกายมนุษย์ แต่ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นการใช้ภายในร่างกายมนุษย์ จึงต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้กลับมาครอบคลุมอีกครั้ง
“แม้ตัวผ้าอนามัยชนิดสอดจะหลุดจากคำนิยามตามกฎหมายของเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2558 แต่ในทางปฏิบัติ การขอจดแจ้งก็ยังเป็นเครื่องสำอางอยู่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องออกกฎกระทรวงเพื่อให้เข้าได้กับนิยามตามกฎหมาย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านผ้าอนามัยแบบสอดอยู่ 8 ราย เป็นการนำเข้าทั้งหมด ไม่มีการผลิตเองในประเทศ สำหรับการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงใช้ผ้าอนามัยแบบภายนอก ส่วนคนที่ใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดส่วนใหญ่จะเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ หรือบางรายมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจึงซื้อมาใช้” ภก.สมชาย กล่าว
ภก.สมชาย กล่าวว่า สำหรับการควบคุมมาตรฐานของผ้าอนามัยก็ยังคงเดิม โดยผ้าอนามัยภายนอก ต้องผลิตขึ้นโดยผ่านการทำให้สะอาดและถูกสุขลักษณะ ส่วนผ้าอนามัยชนิดสอดต้องผลิตขึ้นผ่านการทำให้ปลอดเชื้อ และให้ระบุคำว่าปลอดเชื้อไว้ในฉลาก ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2559 นั้น เครื่องสำอางต้องไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค คือ 1. ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 2. สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส 3. แคนดิดา อัลบิแคนส์ และ 4. คลอสตริเดียม สำหรับข้อควรระวังในการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด ที่ต้องแสดงคำเตือนในฉลาก คือ 1. ไม่ควรใช้เมื่อภาชนะบรรจุฉีกขาด 2. ไม่ควรใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 - 8 ชั่วโมง และ 3. ขณะใช้หากมีอาการไข้ คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด ท้องเดิน และมีผื่นแดงตามผิวกาย ให้นำผ้าอนามัยออกและรีบไปพบหรือปรึกษาแพทย์ทันที ซึ่งการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดไว้นานเกินอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งบางรายถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด