xs
xsm
sm
md
lg

"Good View Running" ก้าวข้ามงานวิดีโอ สู่ผลงานศิลปะ "อินเตอร์แอคทีฟ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลักการของสื่อที่เป็นวีดีโอ ผู้กำกับจะให้ความสำคัญกับการจัดวางองค์ประกอบทั้งหมดในเฟรมภาพ (Mise en Scene) ทั้งบรรยากาศของฉาก แสง และการกำกับนักแสดง ผู้กำกับโดยนัยยะก็คือผู้กำกับอารมณ์ของคนดูว่าอยากให้พวกเขารู้สึกอย่างไร ในยุคดิจิทัล มีงานมิวสิควีดีโอและดรามาซีรีย์ที่ผสานความเป็นอินเตอร์แอคทีฟเข้าไปในการเล่าเรื่อง ด้วยการให้คนดูเป็นผู้กำหนดเองว่าจะให้ตัวละครทำอย่างไรต่อไป แทนที่จะรอดูและลุ้นว่าตัวละครจะทำอย่างไร

แต่สำหรับ ทัพพ์เทพ ภาปราชญ์ หรือ อ.เปี๊ยก อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขานิเทศศาสตร์ กลุ่มวิชาการสื่อสารมวลชน (สื่อสร้างสรรค์) ประสบการณ์การทำงานเบื้องหลังในวงการบันเทิงเกือบ 20 ปี จากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครที่ EXACT ผู้กำกับภาพงานสารคดีที่ Panorama ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา ฯลฯ เลือกที่จะก้าวกระโดดออกจากเซฟโซนของตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามว่าแล้วงานศิลปะอินเตอร์แอคทีฟจริงๆ เขาทำกันอย่างไร


ผลงานศิลปะอินเตอร์แอคทีฟของเขา เริ่มต้นจากตัวเขาเองที่เปลี่ยนจากการออกกำลังในยิมหรือฟิตเนสเซ็นเตอร์มาสู่การวิ่งบนถนน เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เล่มพาสปอร์ตของเขาประทับตราในประเทศอาเซียนเกินกว่าร้อยครั้ง คนเสพติดการออกกำลังย่อมต้องหาหนทางให้ตัวเองได้เสียเหงื่อ การวิ่งไปในที่ต่างๆ ยามว่าง สะดวกเมื่อไรก็แค่เปลี่ยนรองเท้า กลายเป็นงานอดิเรกของเขา จนเกิดอัลบั้มภาพถ่ายที่เขาบันทึกมันไว้ระหว่างการวิ่งในเมืองต่างๆ และรวบรวมไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่ออัลบั้มว่า ‘Good View Running’

กระทั่ง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ม.ศิลปากร จัดงานสัมมนาสุดยอดวิชาการระดับนานาชาติขึ้นครั้งแรก International Conference on Innovative Digital (ICID 2019) โดยมุ่งเน้นการผสานองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านศาสตร์ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ ศิลปะการออกแบบ การผลิตสื่อและการสื่อสาร รวมทั้งมีการแสดงนิทรรศการศิลปะดิจิทัลภาพนิ่งและสื่อโต้ตอบของศิลปินนานาชาติ เมื่อวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

ทัพพ์เทพ คือหนึ่งในทีมงานหลักที่ช่วยประสานงานนักวิชาการจากประเทศมาเลเซียและควบคุมการจัดงานสัมมนา


"ในส่วนของนิทรรศการ เราจึงคิดขึ้นมาว่า นอกจากช่วยคณะจัดงาน อยากทดลองทำผลงานศิลปะดูสักชิ้น เพราะหลังจากการแสดงผลงานภาพเขียนสีน้ำมันตั้งสมัยเรียนวิชาโททัศนศิลป์ที่คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ตอนก่อนจบปริญญาตรี โลกของการทำงานในวงการบันเทิงก็หล่อหลอมให้ได้ชิ้นงานที่ตัวเองผลิตออกมาในรูปแบบเชิงการค้า ไม่สามารถอ้างอิงเป็นผลงานทางวิชาการได้ 21 ปีผ่านไป นี่จะเป็นการทำงานที่ใช้ใจล้วนๆ ในการสร้างงานในลักษณะผลงานทางศิลปะอีกครั้ง"

ภาพวิวทิวทัศน์สองข้างทางและภาพผู้คนในเมืองต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เขามีโอกาสเก็บภาพด้วยกล้องไอโฟนระหว่างการวิ่งออกกำลังของเขาตลอด 3 ปีเต็มถูกนำมาคัดเลือก การแสดงภาพถ่ายวิถีชีวิต การมีเฟรมดี ๆ ที่มีเรื่องเล่าของแต่ละสถานที่คงเพียงพอสำหรับการจัดเป็นคอลเลคชั่นภาพถ่ายในงานแสดงนิทรรศการ

"เราคิดต่อแบบมนุษย์ commercial คือมันไม่ impact มันไม่ว้าวเลย ทำยังไงให้ Good View Running มันน่าสนใจ ตอนแรกจึงไปศึกษาเรื่องการฉายภาพนิ่งผ่านโฮโลแกรม ขับรถบุกไปถึงบ้านน้องที่ให้เช่าเครื่อง แล้วเราก็สนุกมากที่เครื่องฉายใบพัดของมันทำให้งานภาพนิ่งเรามีชีวิตขึ้น แต่คิดไปคิดมา มีอะไรที่สนุกกว่านี้อีกได้บ้าง จนไอเดียมันกระฉูดว่า ทำเป็นงานอินเตอร์แอคทีฟเลยดีกว่า ทีนี้แรงบันดาลใจมันเลยสอดคล้องไปกับ concept ของงานแสดงที่จัดโดยคณะไอซีที คือคณะนี้โดยโครงสร้างหลักสูตรมันเท่มากเลยนะ มีสาขา Business Information Technology, Information Technology for Design และ Communication Arts ที่เราสอนอยู่ การทำงานศิลปะประเภทอินเตอร์แอคทีฟ Digital Media Art ในเมืองไทยมันยังมีคนทำไม่เยอะ เพราะมันต้องเกิดการ integrate อย่างแท้จริง ผ่านมุมมองแบบวิทยาศาสตร์และศิลปะ มันมีการเขียนโปรแกรมเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเหมือนมนุษย์คนละประเภทกัน แม้กระทั่งโดยรากของคนศิลปะในบ้านเราเองก็มาจากสาย Fine Art กัน ตัวเราเองก็เป็นมนุษย์ที่ทำงานเฉพาะในสายวีดีโอ เอาว่ะ นี่ล่ะ ของเล่นใหม่ของผู้กำกับรุ่นเก่าอย่างเรา เราเลยสรุปว่า ต้องอินเตอร์แอคทีฟล่ะ"


กระบวนการสร้างสรรค์เริ่มต้นจาก การมีชุดภาพนิ่งของเมืองต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องมือถือไอโฟน เขาเริ่มมองหาวิธีการนำเสนอภาพนิ่งเหล่านี้ด้วยมุมมองใหม่ๆ ด้วยการนำไปทดลองฉายผ่านเครื่องโฮโลแกรม แต่ข้อจำกัดของเครื่องฉายประเภทนี้คือทำหน้าที่เป็นเพียงแค่เครื่องฉายหรือ screen เท่านั้นนั้น ไม่สามารถสร้างการโต้ตอบในลักษณะ two way communication ได้ อีกทั้ง ภาพของวีดีโอที่เหมาะสมกับการฉายผ่านเครื่อง Hologram ควรถูกออกแบบในลักษณะ 3 มิติ แต่source ที่เขามีมันคือภาพถ่าย ดังนั้นโจทย์ของการก้าวข้ามข้อจำกัดนี้จึงต้องหาเครื่องมือใหม่

เทคนิคแรกที่เขานำมาใช้จากประสบการณ์เดิมของงานผลิตวีดีโอคือ Parallax Effect มันคือการพยายามทำให้ภาพนิ่งแบน ๆ 2 D กลายเป็นภาพเสมือน 3 มิติ และทำให้เหมือนมีการเคลื่อนกล้องโดยการไดคัท แยกวัตถุฉากหน้ากับแยกฉากหลังหรือเพิ่มฉากหลังเข้าไปใหม่ เช่นก้อนเมฆ และอาจมีการขยับสัดส่วนภาพนิดหน่อย


ต่อมาคือการเขียนโปรแกรมซึ่งเหมือนกับการสร้างเกมขึ้นมาด้วยโปรแกรม Unity และเชื่อมต่อกับกล้อง Kinect (มาจากคำว่าไคเนติก Kinetic รวมกับคำว่าคอนเนค Connect) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมของเครื่องเล่นเกม X box สำหรับการตรวจจับการเคลื่อนไหว โดยมีข้อจำกัดคือต้องทำงานบนระบบปฏิบัติการของ Microsoft เท่านั้น การพัฒนาโปรแกรมถูกออกแบบให้จดจำการเคลื่อนไหวที่คล้ายการวิ่งด้วยการต้องยกเข่าสูง ฉะนั้นถ้าผู้ชมยกเข่าสูงเหมือนกึ่งเดินกึ่งวิ่ง เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวจะสั่งการให้เริ่มเพลย์วีดีโอ

พอมั่นใจว่าวิธีการนี้ตอบโจทย์ที่เขาอยากได้ ภาพถ่ายที่มีมากมายจึงต้องถูกเลือกว่าจะนำเสนอกี่เมือง และเขาตัดสินใจเลือก 5 เมืองจาก 3 ประเทศคือพม่า มาเลเซียและสิงคโปร์ เฉลี่ยเมืองละไม่เกิน 10 ภาพต่อเมือง ภาพถ่ายทั้งหมดคือมุมมองที่เขาอยากนำเสนอ คลิปวีดีโอ parallax แต่ละเมืองจะมีความยาวไม่เกิน 1 นาที

หลังจากตัดสินใจเลือกมา 5 เมือง เขาจึงพัฒนาวิธีการโต้ตอบกับเซนเซอร์ของ Kinect ให้เลือกเมืองก่อนออกวิ่งด้วยโดยการใช้มือเลือกเปลี่ยนเมืองและต้องออกวิ่งเพื่อเข้าสู่วีดีโอของเมืองนั้น ๆ

"วันเทสต์ระบบนี่สนุกมาก คือตอนแรกตั้งใจเพียงแค่ถ้าเริ่มออกวิ่ง เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวที่เริ่มวิ่งแล้วสั่งงานให้วีดีโอเพลย์ก็จบแค่นั้น แต่คิดไปคิดมา สิ่งที่เราอยากนำเสนอคือ‘คุณต้องวิ่งว่ะ’ ถ้าไม่วิ่งคุณก็จะไม่สามารถดูต่อไปได้และผู้ชมก็จะรู้ตลอดเวลาว่าภาพจะเพลย์ถ้าคุณวิ่ง บนไทม์ไลน์เวลาที่วีดีโอมันเพลย์ จึงเพิ่มคนวิ่งเข้าไปให้รู้ว่า วิ่งต่อไป อย่าหยุด พอจบเมืองก็บอกผู้ชมว่า Well Done, Try the next city!"


สำหรับผลงาน Good View Running เขากรอบให้คนดูเลือกทำตามที่เขาต้องการ

อินเตอร์แอคทีฟคือการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านการโต้ตอบทางกายภาพ และเราเลือกใช้การวิ่งของพวกเขา เพื่อจำลองถ่ายทอดประสบการณ์แบบเดียวกับที่เราได้รับมา เรากำกับให้พวกเขาต้องออกวิ่ง ผู้ชมต้องมีความรู้สึกเหนื่อยบ้างในระหว่างการชมงานของเรา เสน่ห์ของแต่ละเมือง ผู้คนที่เราพบเจอ บริบทวัฒนธรรมและวิถีการใช้ชีวิตของแต่ละสถานที่ คุณต้องออกไปเดินไปวิ่งไปสัมผัสมันแบบเชื่องช้าพอประมาณ ถึงจะเห็นว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว ลงไปหาวิวสวย ๆ แล้วถ่ายรูป โพสท์ลงเฟสบุ๊คแล้วกลับบ้าน

การเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวคือการวิ่งออกกำลัง เข้ากับโลกของศิลปะ… แท้จริงแล้วการเริ่มออกวิ่งเมื่อ 3 ปีก่อนของเขากลายเป็นเทรนด์ของการวิ่งในปัจจุบันที่เรียกว่า City Run มันคือการวิ่งอย่างไม่มีกฏเกณฑ์ ซึ่งแตกต่างจากการเข้าร่วมในการแข่งขันวิ่งในอีเวนต์ต่าง ๆ


‘คุณว่าง คุณวิ่ง’ สามารถทะลายข้อจำกัดมากมาย และที่สำคัญคือนักวิ่งแนวนี้มักจะแบ่งเวลาให้กับการเยี่ยมชมและสัมผัสกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของชุมชนนั้น ๆ ได้ ซึ่งอ.เปี๊ยกบอกว่า การวิ่งสำรวจเมือง ทำให้เขา ‘ได้เห็น’ ในสิ่งที่นักท่องเที่ยวอาจมองไม่เห็น มันสอดคล้องกับสิ่งที่เขากำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก แรงจูงใจที่ขับเคลื่อนให้คนออกไปเดินทางท่องเที่ยวมีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกเรียกว่า pull factor วิวทิวทัศน์เป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่องค์ประกอบที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประกอบสร้างอยู่ในการเล่าเรื่องที่ดีก็คือปัจจัยหลักที่ดึงผู้ชมให้อยากไปทดลองและท่องเที่ยวในสถานที่นั้น ๆ ดูบ้าง รวมถึงมีความคาดหวังว่าพวกเขาจะต้องได้รับประสบการณ์แบบนั้น ถ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวจริง ๆ

ผลงานของ อ.เปี๊ยก ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากคอนเซ็พท์ Tourist Gaze (Urry, 2002) ซึ่งการท่องเที่ยวไม่ได้จำกัดเพียงแค่การไปถึงสถานที่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถรวมถึงการท่องเที่ยวผ่านการรับชมสื่อวีดีโอหรือภาพยนตร์ การสัมผัสประสบการณ์ผ่านงานอินเตอร์แอคทีฟชิ้นนี้ของเขา ผู้ชมจะกลายเป็น ‘virtual traveller’ ซึ่งส่งผลต่อ push factor หรือปัจจัยภายในของผู้ชมที่มีความแตกต่างกัน บางคนต้องการเติมเต็มประสบการณ์แฟนตาซีของตัวเอง บางคนต้องการความรู้สึกว่ามีสถานะที่น่าภูมิใจที่ได้มีโอกาสท่องเที่ยว บางคนท่องเที่ยวเพราะต้องการค้นหาตัวเอง โดยงานของเขามุ่งเน้นกลุ่มที่ต้องการหลีกหนีความซ้ำซากจำเจเช่น มนุษย์ออฟฟิศ นี่คือมุมบรรเทาอารมณ์ชนิดหนึ่งของออฟฟิศที่แคร์พนักงาน เหมือนมีโต๊ะปิงปอง หรือเกมไว้ให้พนักงานของพวกเขา

ส่วนกลุ่มเป้าหมายอีกกลุ่มคือพวกชอบเดินทางท่องเที่ยว ที่เขามุ่งเน้นอยากสร้างแรงบันดาลใจให้ทดลองวิ่งเลียนแบบเขา เพื่อจะให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของวิถีชีวิตของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ และเชิญชวนให้ได้ออกแบบเส้นทางด้วยตัวของผู้ชมเองดูสักครั้งในชีวิต…

ผลงานของเขาประกอบด้วยชุดภาพ 5 เมืองจาก 3 ประเทศ คือ ปีนัง มะละกาที่มาเลเซีย ย่างกุ้งและพาอันที่พม่า และสิงคโปร์ มุมมองทั้งหมดถููกถ่ายทอดออกมาในลักษณะภาพนิ่ง ก่อนที่จะถูกนำมาทำให้เสมือนเคลื่อนไหว ด้วยเทคนิควีดีโอ ที่เรียกว่า Parallax หัวใจของการโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กับงานของเขาก็คือ เขาได้ภาพเหล่านี้จากการวิ่งและกึ่งเดินกึ่งวิ่ง ฉะนั้น คุณเองก็ห้ามหยุดยืนเฉย ๆ! ถ้าไม่เสียเหงื่อซะหน่อย ก็จะไม่มีวันได้สัมผัสกับงานของเขาแน่นอน…! เลือกเมือง…และก็ออกวิ่ง


ปีนัง เป็นเมืองแรกที่เริ่มวิ่ง เพราะเป็นเมืองที่เราไปเรียนต่อ ที่นี่มันครบเครื่องทั้งความเป็นจีนมาเลย์ จีนมุสลิม อีกทั้งนักเรียนจากต่างชาติก็เต็มเมือง และเป็นเมืองมรดกโลก นักท่องเที่ยวก็มากมาย มันจึงมีความหลากหลายสูงมาก แต่เค้าอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบงาม


ย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า เราไปกำกับละครและพักอยู่ที่นี่นานมาก บรรยากาศเมืองและผู้คนเหมือนถอยหลังไปสู่อดีตของไทยเกือบ 30 ปี ความเป็นพุทธศาสนิกชนของที่นี่สูงมาก การเข้าวัดกลายเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเขา ทุกคนยังใช้ชีวิตอยู่บนความพอเพียง พลังของระบบทุนนิยมยังไม่รุนแรง


พะอัน เป็นเมืองที่ใกล้แม่สอดจังหวัดตากของไทย อากาศดีตลอดปีเพราะอยู่บนที่สูง เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ต้องตั้งใจเข้าไปเที่ยว จริง ๆ แล้ว คนไทยที่ไปเที่ยวถึงพระธาตุอินแขวนได้ ถ้าเลยไปอีกนิดก็จะเจอเมืองนี้ มันคล้าย ๆ กับน่านในสมัยก่อนของไทย ที่ยังไม่ช้ำ ถ้าใครได้ไปจะต้องหลงรักเมืองนี้


มะกะลา เป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกัน มีเสน่ห์สุด ๆ อยากกลับไปอีก ระยะทางรอบเมืองเก่า กำลังน่ารักเหมาะแก่การวิ่งชมเมืองเป็นอย่างยิ่ง มีรถสามล้อสีสันสดใสให้บริการในเที่ยวรอบเมืองสถาปัตยกรรมแบบชาวดัตช์ และโบสถ์คริสต์โปรแตสแตนท์ หอนาฬิกา กังหัน เป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ


สิงคโปร์ มุมมองที่เราเก็บภาพมา เป็นบ้านเมืองโซนที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางรอบที่พักอาศัยของพี่ชายเราที่มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ประทับใจกับความเป็นระเบียบและการจัดการผังเมืองของที่นั่น ที่พักอาศัยมีคุณภาพ รัฐบาลเอาภาษีมาทาสีที่พักให้ดูใหม่ทุก ๆ 5 ปี วิ่งวนรอบเมืองที่นั่น แล้วตั้งคำถามเลยว่า ทำไมคุณภาพชีวิตของเขาดีได้ถึงเพียงนี้


ในโลกของ commercial งานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ทสามารถพบเจอได้ตามสถานที่ที่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนในโปรเจคท์นั้น ๆ ซึ่งเขาก็ยอมรับเองว่า ‘งานของเขา อาจไม่ใหม่’ แต่นี่คือความท้าทายครั้งใหม่ในโลกวิชาการของเขา ที่มุ่งมั่นจะสร้างการหลอมรวมองค์ความรู้จากศาสตร์และศิลป์ที่คณะไอซีที ม.ศิลปากร วางโครงสร้างเอาไว้ งานศิลปะอินเตอร์แอคทีฟทุกชิ้นที่ทดลองทำครั้งต่อไป เขามุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงกับการสื่อสารในเนื้อหาให้ลึกซึ้งขึ้น หาทางสวมเข้ากับฟอร์แมทของงานวิจัยในเชิงการแก้ปัญหาและต้องสามารถนำไปใช้ได้จริง บนความ wow ที่เป็นโจทย์ส่วนตัวของเขา และมันจะกลายการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เฉกเช่นเดียวกับการสื่อสารในยุคดิจิทัล ที่คนรุ่นเก่าในสายงาน media หลายคนอาจรู้สึกว่าถูก Disrupt

"อาจารย์รู้สึกว่าตัวเองกำลังเดินตามโลกดิจิทัลไม่ทัน เลยตัดสินใจออกวิ่งตาม และวันนึงอาจจะแซงมันสำเร็จก็ได้" อ.เปี๊ยก กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น