ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ลุยทำตลาดคอมพิวเตอร์พกพารุ่นใหม่ Surface Laptop 3 และ Surface Pro 7 มั่นใจปีหน้าตลาด Surface (เซอร์เฟส) ในไทยเติบโตต่อเนื่องเป็นเลข 2 หลักเช่นเดียวกับตลาดอื่นทั่วโลก ยอมรับการหยุดสนับสนุน Windows 7 ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2020 เป็นต้นไปจะเป็นปัจจัยเสริมให้ Surface ขายดี ปัดไม่เอ่ยถึงการลงทุนเพิ่มศูนย์บริการในไทยแต่ย้ำว่าจะเน้นลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก แย้มต้นปีหน้าพร้อมส่ง Pro x บุกตลาด LTE แดนสยาม
แจคกี้ มิแรนด้า ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจเซอร์เฟสและอุปกรณ์เสมือนจริง บริษัท ไมโครซอฟท์ กล่าวระหว่างงานประกาศเริ่มจำหน่าย Surface Laptop 3 และ Surface Pro 7 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ถึงโอกาสของคอมพิวเตอร์พกพาและแท็บเล็ตตระกูล Surface ในปีหน้าว่าตลาดไทยจะเติบโตขึ้นอย่างน้อยเป็นเลข 2 หลัก ไม่ต่างจากตลาดอื่นทั่วโลกที่ Surface เติบโตขึ้นทุกปีเป็นเลข 2 หลักเช่นกัน
“ไทยเป็นตลาดที่สำคัญของ Microsoft สถิติในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า 75% ของบริษัทใหญ่ที่อยู่ในดัชนี Fortune 500 ทั่วโลกมีการใช้งาน Surface วันนี้ธุรกิจ Surface มีการเติบโตมากกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตอกย้ำว่า Surface จะเป็นธุรกิจหลักหรือ core business ของบริษัท”
สำหรับ Surface Laptop 3 และ Surface Pro 7 เป็นสินค้ากลุ่ม Surface รุ่นล่าสุดที่ Microsoft เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทย หลังจากเปิดให้สั่งซื้อล่วงหน้าผ่านร้านค้าปลีกไอที และช่องทางออนไลน์ในราคาเริ่มต้น 22,990 บาท ปัจจุบัน Microsoft เปิดตัวผลิตภัณฑ์แล้ว 6 รุ่นในตระกูล Surface ได้แก่ ซีรีส์ Pro ซึ่งมีจุดเด่นที่หน้าจอฝาหลังพับได้, ซีรีส์ Laptop ซึ่งเป็นรูปร่างคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กปกติ, ซีรีส์ Go ที่เน้นการพกพาง่าย, ซีรีส์ Book ซึ่งเน้นถอดหน้าจอออกได้, ซีรีส์ Studio ที่ไม่เข้าตลาดไทย และซีรีส์ Hub 2S กระดานอินเทอร์แอคทีฟซึ่งจะเริ่มทำตลาดในปีหน้า
กลุ่มเป้าหมาย 5 องค์กร
ชนิกานต์ โปรณานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายของ Surface ว่าจากที่ Microsoft เคยวางให้ Surface เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับทุกคน แต่ 2 กลุ่มที่บริษัทพบว่าชื่นชอบใน Surface มากกว่ากลุ่มอื่น คือคนทำงานที่เดินทางตลอดเวลา เพื่อทำงานนอกสถานที่และทำงานจากที่ใดก็ได้ คนกลุ่มนี้ต้องการอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์การประชุมได้ทุกที่และต่อเนื่อง กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ต้องการความโดดเด่นไม่ธรรมดา อาจเป็นนักศึกษาหรือคนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีและมองว่าอุปกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ต้องการอุปกรณ์ที่สามารถเขียน วาดรูป และฟังเสียงพูดได้แบบลื่นไหล
“องค์กรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ Surface คือกลุ่มสถาบันการเงิน และการประกันภัย รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพ การค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรม”
นางสาวสุมล อนันตธนะสาร ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ Surface ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวเสริม ยืนยันว่า Surface ไม่ได้เหมาะกับแค่กลุ่มคอนซูมเมอร์ แต่วันนี้ Surface สามารถตอบโจทย์พนักงานทุกระดับทุกตำแหน่งในองค์กร เช่นรุ่น Go ที่เหมาะกับพนักงานหน้าร้าน ในร้านอาหาร ร้านกาแฟ โกดัง รวมถึงในสนามบินที่ต้องการการติดต่อและสื่อสารอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอเดินทางกลับมาที่ออฟฟิศ
“จุดขายของ Surface ในมุมองค์กร ประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งน้ำหนักที่เบาพกพาง่ายใส่กระเป๋าผู้หญิงได้ใช้งานได้หลายรูปแบบ, การสื่อสารที่รองรับทั้งภายในและภายนอกองค์กร, กล้องหน้าหลังคมชัดระดับ HD และการรองรับระบบชาร์จเร็วสามารถชาร์จเต็ม 80 เปอร์เซ็นต์ใน 1 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็มีระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro ที่สแกนใบหน้าเพื่อเข้ารหัสเครื่องได้เร็วไม่ยุ่งยาก”
เล่นเกมดีขึ้น
อีกจุดที่เป็นพัฒนาการสำคัญของ Surface คือ Surface Laptop 3 ที่ถือเป็นครั้งแรกที่ Microsoft ใช้ชิป AMD ในรุ่นที่วางจำหน่ายหน้าร้านค้าปลีก ทำให้รองรับการเล่นเกมที่ดีขึ้น จุดนี้ Microsoft มองว่าเป็นการร่วมมือเพื่อเติมเต็มสายผลิตภัณฑ์ ให้สามารถตอบการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับยุทธศาสตร์เพื่อตอบความต้องการในตลาดพีซีเกมมิ่งที่ร้อนแรง
“การร่วมมือกับ AMD เกิดขึ้นเพื่อให้ Surface ตอบโจทย์การทำงานที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการร่วมมือลักษณะเดียวกันกับที่ Microsoft มีกับ Qualcomm”
นอกจากนี้ ทั้ง Laptop 3 และ Pro 7 นั้นถูกเปิดตัวต่อชาวโลกครั้งแรกเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา การทิ้งช่วงห่างไม่ถึง 3 เดือนแล้ววางจำหน่ายในไทยนั้นถือเป็นระยะเวลาที่สั้นลงเมื่อเทียบกับ Surface รุ่นอื่น ภาวะนี้สะท้อนว่า Surface ในตลาดไทยจะถูกผลักดันให้โดดเด่นขึ้น บนปัจจัยเสริมเรื่องเวลาที่รับกับช่วงที่ธุรกิจต้องเปลี่ยนเครื่อง และทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเพื่อปรับธุรกิจให้เข้ากับยุคดิจิทัลพอดี
“อีกปัจจัยเสริมสำคัญที่ Microsoft เชื่อว่าจะผลักดันให้ตลาด Surfaces โตกระฉูด คือระบบปฏิบัติการ Windows 7 จะสิ้นสุดการ support ในช่วงเดือนมกราคมนี้ เชื่อว่าจะเป็นจังหวะดีที่ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนเครื่องและแพลตฟอร์มการทำงานขององค์กรไปสู่การทำ Digital Transformation ที่ปลอดภัย”
ทั้งหมดนี้ผู้บริหารมองว่า Surfaces ไม่ได้มีราคาแพงเกินไป เนื่องจากบริษัทเน้นวางนโยบายการตั้งราคาให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าจะยอมจ่ายหากเห็นประโยชน์จากการใช้งาน โดยเฉพาะจุดเด่นของ Surface ที่ทุกรุ่นสามารถลง Application ขององค์กรได้ครอบคลุมกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สำหรับจุดยืนการกำหนดเซกเมนต์ในตลาด ผู้บริหาร Microsoft มองว่าการเป็นอุปกรณ์ทูอินวันทำให้ Surface สามารถบุกได้ทั้งตลาดแท็บเล็ตและแล็ปท็อป โดย Microsoft ไม่ได้หวังแย่งชิงส่วนแบ่งจาก 2 ตลาดนี้ แต่วางเป้าหมายเพื่อเข้าถึงพฤติกรรมและรูปแบบการทำงานของผู้ใช้ ทั้งส่วนพนักงานหน้าร้านและนักศึกษา ซึ่งหากใครชอบ tablet ก็สามารถเลือกซื้อ Surface ได้ รวมถึงหากชอบ laptop ก็ยังสามารถซื้อ Surface ได้เช่นกัน
ปัจจุบัน Surface ถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ใหญ่ที่สุดของ Microsoft ซึ่งรวมอุปกรณ์เสริมสำหรับพีซีทุกชนิดเข้าไปอยู่ในแผนก สถิติล่าสุดไม่มีการระบุว่า Surface สามารถทำรายได้เป็นสัดส่วนเท่าใดของรายได้รวม
ไม่เพิ่มศูนย์บริการไทย
ในแง่การลงทุน ผู้บริหาร Microsoft ไม่เปิดเผยตัวเลขที่แน่ชัด แต่ระบุว่าการลงทุนเป็นส่วนที่สำคัญเนื่องจากราคา Surface ที่อยู่ในระดับพรีเมี่ยม ทำให้ผู้ใช้มีความคาดหวังว่าจะได้รับบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนนี้ Microsoft มีการลงทุนทั้งส่วนระบบออนไลน์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองในเบื้องต้น ขณะเดียวกันมีการลงทุนผ่านพันธมิตร นอกจากนี้ เม็ดเงินส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรม จุดนี้ผู้บริหารย้ำว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่ได้เน้นตอบโจทย์ผู้ใช้แค่ในขณะนี้ แต่จะมองล่วงหน้าไปอีก 2 ปีข้างหน้า
สำหรับความท้าทายในปีหน้า ผู้บริหารมองว่าไม่ใช่ความท้าทายแต่เป็นโอกาสที่บริษัทจะได้ออกสินค้ามามากขึ้น ผลจากการเปิดตัว Surface ทั้ง 5 ซีรีส์ในไทยจะทำให้รอบการอัปเดทผลิตภัณฑ์สั้นลง จากเดิมที่ Surface มักออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทุก 18 เดือนหลังจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ในซีรีส์เดียว
นอกจาก Laptop 3 และ Pro 7 ยักษ์ใหญ่ Microsoft ยังเตรียมเปิดตัวรุ่น Pro x ซึ่งรองรับการใส่ซิมเทคโนโลยี LTE คาดว่าจะเปิดตัวภายในมกราคม 2020 เบื้องต้นยังไม่มีการประกาศราคา แต่มีการประกาศแล้วว่า Microsoft จะจำหน่ายผ่านโอเปอเรเตอร์อย่าง AIS รายเดียว.