น้ำไม่พอ, แก้วไม่มี, การจัดการห่วย, ความปลอดภัยติดลบ ฯลฯ รับรองได้ว่าปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับงานวิ่งของไทย จะไม่ผุดขึ้นมาให้เห็นภายใต้การควบคุมของเขาคนนี้เด็ดขาด
รับประกันได้ด้วยชื่องาน “บางแสน21” ที่ถูกยกให้เป็น “ฮาล์ฟมาราธอนยอดเยี่ยมของไทย” ถึง 4 ปีซ้อน แถมยังเป็นงานแรกของอาเซียน และงานเดียวของไทย ที่ผ่านการรับรองจาก “สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ” ตามมาตรฐานสากลอีกต่างหาก
ทนเฉยไม่ได้!! สภาวะไร้มาตรฐาน “งานวิ่งในไทย”
[แก้ปัญหาเรื้อรัง "น้ำหมด-แก้วไม่พอ-แจกไม่ทัน" ด้วยการตั้งโต๊ะน้ำยาว 50 เมตร]
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมเริ่มมาออกกำลังกายแบบจริงจัง และรู้สึกว่าเวลาไปงานวิ่งตามงานต่างๆ มันไม่ค่อยถูกใจเลย ขาดนู่น-ขาดนี่เกือบทุกอย่าง (ยิ้มเนือยๆ) บางงานระยะก็ไม่ตรง บอกว่าจัด 21 กม. แต่วิ่งไป 19 กม.เข้าเส้นชัยแล้วก็มี บางงาน 21 กม.ซัดไป 27 กม.
หรืออย่างเรื่องน้ำ บางงานผ่านไป 4 กม.แล้ว ยังไม่เสิร์ฟน้ำอีก พอถึงจุดแจกน้ำ เข้าไปดูปรากฏแก้วหมด แล้วจะให้กินยังไง ก็ต้องเอามือรองน้ำ พอวิ่งไปอีก แก้วมีแต่น้ำหมด ต้องบอกว่าเจอแบบนี้ทุกอาทิตย์ สมมติวิ่ง 3 งาน ต้องเจอ 1 งาน
[เพราะเป็นนักวิ่ง ลองมาหลายสนามรอบโลก จึงเห็นช่องโหว่ได้ง่ายขึ้น]
ถ้าน้ำไม่หมด แก้วไม่หมด ก็มีปัญหาเรื่องน้ำไม่เย็นอีก ซึ่งก็ไม่เป็นไร คิดว่าสงสัยเขาไม่เสิร์ฟน้ำเย็น พอไปเจอจุดถัดไป น้ำกลับเย็น เลยสับสนว่าตกลงจะเอามาตรฐานไหนกันแน่ หลายครั้งที่ทีมงานเสิร์ฟน้ำไม่ทัน จนนักวิ่งบางคนต้องหยุดวิ่ง เพื่อไปช่วยเทน้ำแทน
พอเห็นแบบนี้บ่อยๆ เข้า เราก็รู้สึกว่ามันคือปัญหาที่เกิดจากเรื่องการจัดการ ผมเลยตัดสินใจกลับมาชวนทีมว่า เรามาลองจัดงานกันเองดีกว่า ชื่อว่า “บางแสน21” นี่แหละครับ”
รัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ช่วยหมุนเข็มนาฬิกา ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “ฮาล์ฟมาราธอนในฝัน” ขึ้นมา
ภายใต้การสนับสนุนของ ตุ้ย-ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ที่ใจป้ำ ยอมลองเสี่ยงตามคำชักชวนของคนที่ไม่เคยจัดงานประเภทนี้มาก่อน
“พอจบ งานก็กลายเป็น Talk of The Town ของวงการวิ่งไปเลยครับ เพราะอะไรที่เป็นช่องโหว่ที่เคยเกิดกับวงการวิ่ง เราแก้ได้หมด
[ผนึกกำลัง สร้างงานวิ่งอุดทุกช่องโหว่กวนใจ ระหว่าง "ตุ้ย-ณรงค์ชัย คุณปลื้ม (นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข)" และ "บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด"]
เรื่องน้ำมีปัญหา เราก็จัดโต๊ะน้ำยาว 50 เมตรให้เลย คำนวณไว้เท่าไหร่ ก็คูณสองเผื่อเข้าไป และถ้ากลัวเด็กเสิร์ฟไม่ทัน ก็เตรียมมาสิ 50 คน 100 คน แค่ต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่านึง ประมาณ 5,000 - 10,000 บาท
จัดงานเสร็จ มีนักวิ่งหลายคนเลย ที่บอกว่าเราจัดงานดีมาก เทียบเท่างานวิ่งที่ญี่ปุ่น ดีกว่างานวิ่งที่สิงคโปร์ที่ได้มาตรฐานแล้วอีก เราก็เลยเริ่มสงสัยว่ามาตรฐานโลกมันคืออะไร ลองนั่งหาข้อมูลจนได้รู้จักกับ IAAF (International Association of Athletics Federations : สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ)
พอมานั่งอ่านรายละเอียดดูก็เพิ่งรู้ว่า มาตรฐานเราใกล้เคียงมาก ที่ทำอยู่ถือว่าได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังขาดแค่เรื่องตรวจยาโด๊ป, การเชิญนักวิ่งต่างชาติระดับโลกมาเข้าร่วม และรายละเอียดเรื่องการแพทย์ ก็เลยตัดสินใจลองยื่นพิจารณาดู
["บางแสน21" ฮาล์ฟมาราธอน งานแรกของอาเซียน และงานเดียวของไทย ที่ผ่านการรับรองจาก “สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ”]
เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้อยากทำแค่แก้ปัญหางานวิ่งในไทย เหมือนอย่างที่เคยคิดแล้ว แต่มองว่าประเทศเรามีศักยภาพ ที่จะดันให้งานวิ่งเป็น 1 ในระดับโลก ซึ่ง ณ วันนั้นคิดแค่เป็นระดับเอเชียก็ยังดี และเราก็เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ตอนนั้น”
จนถึงตอนนี้ “บางแสน21” ได้รับการยอมรับให้เป็น “IAAF Road Race Silver Label” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้มีฮาล์ฟมาราธอนเพียง “5 งานจากทั่วโลก” เท่านั้น ที่ถีบตัวเองจนคว้า “Silver Label” มาได้ และแน่นอนว่าในฐานะผู้จัดงานวิ่งเจ๋งๆ งานนี้ รัฐยังไม่ยอมหยุดอยู่เท่านี้ แต่ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะไปให้ถึง “Gold Label” ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดของระดับโลก ภายในปีหน้าด้วย
“ทีมแพทย์สุดพิเศษ” แม้แต่ระดับโลกยังต้องทึ่ง!!
[งานวิ่งสุดปลอดภัยและไฮเทค มีระบบ “GPS Tracker” ติดตามตัว ตรวจสอบสถานะ "นักวิ่งกลุ่มเสี่ยง"]
“มาตรฐานทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราอ้างอิงจากระดับโลก แล้วเอามา Design จากความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์เราเองอีกที ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ามีการตรวจวัดอะไรในงานนี้ เราจะกลายเป็น Case Study ในระดับโลกเลย”
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เจ้าของงานวิ่งระยะทาง 21 กม.บนพื้นที่บางแสน มั่นใจได้ขนาดนั้น ก็เพราะ “ฮาล์ฟมาราธอน บางแสน21” ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ วางแผนด้านการปฐมพยาบาล, รักษาคนไข้ รวมถึงการกู้ชีพ เอาไว้เหนือกว่ามาตรฐานโลกกำหนดไปไกลหลายขุมเลย
โดยการออกแบบระบบของ “นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ผู้ทำหน้าที่ “Medical Director” ของงานวิ่งนี้ ซึ่งกำหนดให้มี “หน่วยแพทย์ใหญ่” วางไว้ในทุกๆ 4 กม. จากเดิมที่มาตรฐานระดับโลก กำหนดเอาไว้เพียงทุกๆ 5 กม.เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าอากาศบ้านเราร้อนกว่า จึงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า
[มีทั้ง “หน่วยแพทย์ใหญ่” และ “หน่วยแพทย์ย่อย” ระยะห่าง ถี่ยิ่งกว่ามาตรฐานโลก]
นอกจากนี้ยังมี “หน่วยแพทย์ย่อย” ที่วางเอาไว้เพิ่มเติม ระหว่าง 4 กม.ก่อนที่จะถึง “หน่วยแพทย์ใหญ่” เพื่อคอยช่วยคัดกรอง มอนิเตอร์ และสื่อสารกับหน่วยใหญ่อีกทีหนึ่ง
“และเพื่อให้มาตรฐานของเราสูงขึ้นไปอีก สำหรับการเตรียมยื่นเสนอ “Gold Label” เราเลยให้ทุกๆ 1 กม.ต้องมีรถพยาบาล-รถมูลนิธิ พร้อมเครื่องช่วยชีวิต
โดยระหว่างทางที่วิ่ง ก็จะมีหน่วยพยาบาลขี่จักรยานติดเครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า) ตามนักวิ่งเป็นช่วงๆ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยได้ทัน
[มีหน่วยพยาบาล ขี่จักรยานติด AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า) ตามเส้นทาง เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน]
นอกจากนี้ ใบสมัครของเรายังให้ทุกคนกรอกละเอียดไปถึงโรคประจำตัว เคยมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหรือเปล่า แล้วแยกออกมาว่า ในจำนวนคนเหล่านั้น มีคนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับไหน กลุ่มปกติ, เสี่ยงน้อย หรือเสี่ยงมาก
ถ้าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมาก ทีมแพทย์ก็จะส่งข้อมูลไปเชิญชวนเขา ให้ตรวจร่างกายก่อนมาวิ่ง หรือมีคำแนะนำต่างๆ เช่น คุณควรมีพาร์ทเนอร์มาวิ่งด้วย และควรบอกคนรอบข้างว่าให้รอรับโทรศัพท์ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้น โทร.ไปต้องช่วยตัดสินใจได้ทันทีว่า จะทำยังไงกันต่อ
[“นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ผู้ทำหน้าที่ “Medical Director” ของงานวิ่งนี้]
บางเคสอาจจะแนะนำไปเลยว่า ถ้าไม่วิ่งปลอดภัยกว่านะ แต่ถ้าเลือกจะวิ่ง เรามีทางเลือกเพิ่มเติมให้คือ ทีมแพทย์จะเตรียม “คุณหมอมาวิ่งเป็นเพื่อน” คุณเอาไหม
หมายความว่าวิ่งห่างกัน 5-10 เมตร เพื่อไม่ให้กวนคุณมาก คุณโอเคไหม ถ้าโอเค เราก็จัดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเลย นี่แหละคือมาตรฐานของเรา ที่บอกเลยว่าสุดยอดระดับ World Class เลย (ยิ้ม)
และกลุ่มที่เสี่ยงมากๆ เราจะให้เขาติด “GPS Tracker” เสียบไว้ที่เอว พอวิ่งไป ทีมแพทย์จะเห็นเลยว่า ตอนนี้วิ่งถึงกิโลเมตรที่เท่าไหร่แล้ว ตรวจสอบได้ตลอด
ถ้ามีเครื่องไหนหยุดนานผิดปกติ เกิน 1-2 นาที เราจะวอ.ตาม เอาโดรนบินไปดูเลยครับ เพื่อดูว่าคนคนนั้นเขากำลังนอนอยู่ หมดสติ หรือแค่พักหอบจากการวิ่ง”
[มีโครนติดตาม "นักวิ่งกลุ่มเสี่ยงมาก" เพื่อตรวจสอบสัญญาณผิดปกติ]
ต่างจากงานวิ่งอื่นๆ ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ที่นักวิ่งจะไม่มีวันรู้เลยว่าตัวเองอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” หรือเปล่า เพราะสิ่งที่คุณจะได้กรอก ไม่ใช่ข้อมูลทางการแพทย์ แต่เป็น “ใบยินยอม” รับผิดชอบชีวิตตัวเอง หากเกิดหมดลมหายใจในระหว่างแข่งขันขึ้นมา
“การที่เราจัดงานวิ่งงานนึงขึ้นมา หมายความว่าเราเข้าไปสร้างความเสี่ยงให้กับคนทั้งเมืองแล้ว เพราะเราเอาคนเป็นหลักหมื่นมาวิ่ง รวมคนที่เกี่ยวข้องเป็น 2-3 หมื่นคน ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจริงๆ ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอาไม่อยู่หรอกครับ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสร้างความพร้อมทางการแพทย์ขึ้นมา
เราจึงต้องสร้าง “Mini Hospital” ขึ้นมาเลย ซึ่งในงานเรียกว่า “Medical Center” ที่มีความสามารถเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดกลาง หมอหลายคนยังออกปากบอกว่า ดีกว่าโรงพยาบาลในหลายๆ จังหวัดเสียอีก
การจัดการเรื่องทีมแพทย์ในครั้งนี้ ผมว่าน่าจะเป็น Case Study ระดับโลกได้เลย เพราะทีมแพทย์ของเรา มีสูตินารีแพทย์ในนั้นด้วย เนื่องจากมีนักวิ่งบางท่านแจ้งว่าตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งเราติดต่อเขาไปเบื้องต้นและแนะนำว่าให้เลื่อนการออกกำลังกายหนักๆ ออกไปก่อน
และถ้าคนกลุ่มนี้มางานจริง เราจะไม่ได้ดูแลแค่เฉพาะคุณแม่ แต่ดูแลไปถึงคุณลูกด้วย เพราะฉะนั้น งานนี้ตามภาษานักวิ่งต้องบอก “เวอร์วังมาก” (ยิ้ม) เพราะเราไปไกลถึงขั้นดูแลคนที่ยังไม่เกิดแล้ว
[หน่วยแพทย์มืออาชีพ ที่มาพร้อม "หุ่นยนต์ปั๊มหัวใจ" หลักล้าน]
เครื่องไม้เครื่องมือเราก็พร้อมมาก โดยเฉพาะหุ่นยนต์ปั๊มหัวใจ ตัวเป็นล้านเลยนะครับ คือยังไงก็ดีกว่ามนุษย์แน่นอน เพราะปั๊มแบบไม่มีคำว่าเหนื่อย และน้ำหนักการปั๊มก็ปรับตาม คนอ้วน-คนผอม-ผู้หญิง-ผู้ชาย
[เป็นยิ่งกว่ารถพยาบาลทั่วไป เพราะสามารถส่งสัญญาณชีพ และข้อมูลผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาลได้ล่วงหน้า]
ส่วนรถพยาบาลของเราก็เป็นขั้นกว่าของรถทั่วไป คือสามารถส่งสัญญาณชีพ ข้อมูลทุกอย่างของผู้ป่วย ไปรอที่ห้องฉุกเฉินเลย ทำให้ทีมแพทย์สามารถวิเคราะห์ล่วงหน้าได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ถึงโรงพยาบาล
สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดที่คุยๆ กันไป คุณหมอเขาบอกว่า เราเตรียมไปใหญ่มาก ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่ได้ใช้หรอก แต่ถ้าเราช่วยชีวิตได้คนนึงจากสิ่งเหล่านี้ มันก็คุ้มแล้ว”
ชีวิตคนมีค่า “ปิดถนน” ดีกว่า “ให้เสี่ยงตาย”!!
[ปิดการจราจร 100% เพื่อให้นักวิ่งทุกคน ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ]
“นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งสำหรับงานวิ่ง ที่ทำให้ชีวิตนักวิ่งมีคุณค่านะ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาต้องอยู่ในความเสี่ยงมากมาตลอด คุณไปวิ่งตามริมถนน อาจจะโดนสิบล้อสอยไปเมื่อไหร่ไม่รู้
หรือไม่ก็มีนักวิ่งที่หัวใจวาย ซึ่งมีให้เห็นในงานวิ่งอื่นๆ ทุกปี เสร็จปุ๊บก็ไม่มีการรับผิดชอบ ถือว่าคุณซวยไปแล้วกัน
แต่ครั้งนี้ เราพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ได้บอกว่าจะไม่มีคนเสียชีวิต เพราะแม้แต่งานระดับโลก ถึงระดับ Gold Label ปีที่แล้วก็ยังมีคนเสียชีวิต 2 คน แต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายามป้องกันไว้ทุกทางแล้ว”
โดยเฉพาะการป้องกันเรื่องอุบัติเหตุ ที่ “บางแสน21” รับประกันได้เลยว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ จากการปิดถนนเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางวิ่ง ตั้งแต่คนแรกที่ออกตัววิ่ง ไปจนถึงคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย
แต่กว่าจะได้รับความร่วมมือและรอยยิ้มจากใจ จากคนในชุมชนบางแสน เขาก็ต้องพยายามฟันฝ่า ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักเหมือนกัน ยิ่งปีแรกที่เริ่มจัดงานวิ่ง ยิ่งต้องเผชิญกับแรงต้าน เพราะความไม่เข้าใจ
“อย่างปีแรกที่จัด ชาวบ้านเขายังไม่แฮบปี้ เพราะการปิดถนน มันขัดกับการใช้ชีวิตปกติของเขา แต่หลังจากจัดงานจบ งานได้รับ Feedback ดีมาก ได้รับการโหวตให้เป็น “งานวิ่งยอดเยี่ยมของประเทศไทยอันดับ 1” ทั้งที่จัดครั้งแรก ทำให้ชาวบางแสนบางส่วนเริ่มภูมิใจ
พอปีที่ 2 คนก็มาสมัครเพิ่มจาก 3,000 เป็น 10,000 คน ทำให้มีคนเริ่มเข้าไปใช้บริการที่พัก ร้านอาหารเต็มหมด ของฝากขายได้ดีหมด เศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้แนวต้านน้อยลง แนวพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น จนถึงทุกวันนี้
อย่างปีนี้ เรามีใบสมัครเข้ามา 40,000 ใบ คือถ้ารับหมด บางแสนแตก (ยิ้ม) เราเป็นงานแรกของประเทศไทยที่ต้องใช้ระบบจับฉลาก รับแค่ 12,000 คน มีตังค์ก็ไม่ได้วิ่งนะ ต้องมีดวงด้วย”
รัฐปิดประโยคด้วยรอยยิ้มสบายๆ ก่อนเผยมุมลับๆ เล็กๆ ให้เราได้รู้เพิ่มอีกว่า สาเหตุที่เลือก “บางแสน” เป็นสถานที่จัดงานวิ่ง ตั้งแต่ครั้งแรกที่ลองทำ ส่วนนึงเพราะชื่อเต็มๆ ของที่นี่มาจาก “บางแสนสุข” ซึ่งตรงกับความตั้งใจของเขา ที่ต้องการทำให้งานวิ่งในฝันงานนี้เป็น “งานวิ่งที่แสนสุข”
พร้อมรับปากว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรที่เคยทุกข์จากงานวิ่งอื่นๆ จะไม่มีให้เห็นในงานนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องถนนหนทาง อากาศดีๆ และทิวทัศน์สวยๆ ที่พร้อมเสิร์ฟเต็มที่ ผ่านเสน่ห์ของเมืองที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
“นี่น่าจะเป็นเส้นทางวิ่งที่สวยมากเส้นนึงในประเทศคือ ตอนขึ้นเขาสามมุก จะได้บรรยากาศนึง พอขึ้นยอดเขา 4 กม.สุดท้าย เป็นเส้นทางวิ่งเลียบทะเลตลอด ก็จะได้อีกบรรยากาศนึง พอวิ่งจบปุ๊บ หลายท่านก็ลงไปเล่นน้ำทะเลต่อเลย (ยิ้ม) สนุกมากครับ
[วิวสวยๆ บรรยากาศดีๆ ที่นักวิ่งจะได้เจอใน "บางแสน21"]
เอาจริงๆ เบื้องหลังการเตรียมทุกอย่างมันเหนื่อยนะ วุ่นวาย ใช้เงินเพิ่มเยอะมาก โดยที่ถ้าไม่ใช้เลย มันประหยัดไปเยอะ แต่เราก็ยังเลือกที่จะทำเพิ่ม จ่ายเพิ่ม
เพราะการจัดงานวิ่งแบบนี้ มันไม่ใช่แค่การพยายามทำเพื่อให้ได้มาตรฐานรองรับ แต่ผมมองว่าเราอยากจะปักธงให้งานวิ่งของประเทศไทย ไปสู่งานวิ่งระดับโลกให้ได้ด้วย ให้สามารถไปยืนอยู่แถวหน้าได้ เพราะในปี 2021 เป้าหมายของผมคือ เราจะเป็นฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุดของเอเชีย และถ้าเราได้ Gold Label เราจะได้คำนั้นมาก่อนแล้ว
ตอนนี้เราเป็น 1 ใน 5 ของฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุด แต่เท่านั้นยังไม่พอ ผมต้องการให้นักวิ่งพูดตรงกันว่า ฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุดของเอเชียอยู่ที่เมืองไทย อยู่ที่บางแสน และถ้าเขามีเวลา เขาจะต้องมาให้ได้สักครั้งในชีวิต
เหมือนที่นักวิ่งไทยเราเอง อยากไปโตเกียวมาราธอน, โอซาก้ามาราธอน ฯลฯ พอไปทีนึง เที่ยวต่ออีก 7 วัน ผมอยากเห็นภาพแบบนั้นกลับมาอยู่ที่เมืองไทย เพราะถ้าทำแบบนั้นได้ เศรษฐกิจดีๆ ก็จะตกอยู่ที่ประเทศของเรา
[หนึ่งใน “นักวิ่ง Elite” ชื่อดังติดอันดับโลก ที่ถูกเชิญมา “บางแสน21” ครั้งนี้ด้วย]
โดยเฉพาะการที่มีนักวิ่ง Elite (นักวิ่งชื่อดัง ติดอันดับของโลก) ซึ่งครั้งนี้ผมเชิญมา 16 คน และใน 14 คนนั้น ไม่เคยเหยียบประเทศไทยมาก่อนเลย และกลุ่มคนเหล่านี้ เขามีโซเชียลฯ ของตัวเอง ที่มีคนติดตามจากทั่วโลก
และถ้าภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่ออกไป ก็จะทำให้คนในโลกบางส่วนรับรู้ว่า เมืองไทยเรามีงานวิ่งที่เป็น Silver Label แล้วนะ ที่สำคัญคนในวงการวิ่งเขารู้กันอยู่แล้วครับว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยวิ่งงานธรรมดา แต่ต้องเป็นงานที่ได้มาตรฐานระดับโลกเท่านั้น”
“ระบบตรวจสอบใบหน้า” สุดล้ำ ยุติกลโกง-สะดวกนักวิ่ง มันเริ่มจากปีแรกที่เริ่มจัดเลย เพราะเรามองเห็นช่องโหว่อันนึงเรื่องการถ่ายรูป จากสมัยผมวิ่งแรกๆ รู้สึกตื่นเต้นมากเลย เวลาเห็นช่างภาพถ่ายรูปเรา แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะไปเอารูปจากใคร จนได้คำตอบว่าทั้งหมด 10 กล้องที่มี ต้องเข้าไปดูรูปต่างที่กัน มีทั้งเว็บไซต์ ทั้งเพจ อยู่กันกระจัดกระจายมากเลย พอเข้าไปปุ๊บ เห็นมีภาพทั้งหมดประมาณ 5,000 รูป ก็ไปนั่งไล่หา รู้สึกตื่นเต้นอยู่แค่ 2-3 งานแรก แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยดูอีกเลย นอกจากจะมีคนเห็นรูปเรา แล้วส่งรูปมาให้ เราเลยมองว่านี่มันเป็นจุดที่ lost มากเลย คือคนถ่ายรูปก็ไม่ได้ตังค์สักบาทนึง อุตส่าห์มาเสียสละถ่ายรูป เพื่ออยากหารายได้พิเศษ หรือแม้แต่หารูปเจอแล้ว จะขอซื้อรูป ขั้นตอนมันก็วุ่นวายมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดงานคือ เราให้พาร์ทเนอร์ของเรา ช่วยสร้างโปรแกรมอ่านเบอร์วิ่งที่เสื้อ แปลงเลขให้เป็นดิจิตอล พอระบบไปสแกนว่าเจอรูปที่มีเสื้อตามเบอร์นี้ มันก็จะขึ้นมาโชว์ทั้งหมด คือไม่ต้องไปนั่งเลือกเอง ถ้าชอบรูปไหนก็กดซื้อได้เลย โดยไม่ต้องติดต่อผ่านช่างภาพ เพราะระบบจะแบ่งเงินกับช่างภาพภายหลังเอง แต่พอใช้งานไปสักพัก ก็เจอช่องโหว่ เพราะบางรูปที่สแกนตัวเลขไม่เจอ ทั้งที่ถ่ายมามากกว่านี้ อาจเพราะวิ่งไปมือบังเลข หรือเลข “1” มันใกล้เคียงเลข “7” เราเลยตัดสินใจ คิดหาเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ จนออกมาเป็น “Technology FaceX” ระบบจดจำ-แยกแยะใบหน้า ที่ทำให้เราได้รับรางวัล “International Innovation Awards 2019” จาก Enterprise Asia [สามารถค้น "ภาพในงานวิ่ง" ของตัวเองได้จากรูปถ่าย เพียงแค่ใช้บริการผ่านไลน์] วิธีใช้ก็คือ พอวิ่งจบปุ๊บ นักวิ่งสามารถเซลฟี่หน้าตัวเอง หรืออัปโหลดรูปหน้าตัวเองเข้าไป และให้ระบบเช็กได้เลยว่า ทั้งงานมีใครหน้าคล้ายเราบ้าง บางรูปมีหน้าเราเล็กๆ อยู่ไกลๆ ระบบยังหาเจอ ซึ่งปัจจุบันเราอำนวยความสะดวก ให้นักวิ่งสามารถเช็กภาพผ่านไลน์ได้แล้ว [เซฟภาพที่ต้องการได้แบบฟรีๆ (มีลายน้ำ) แต่ถ้าอยากได้ไฟล์ original เสียภาพละ 60 บาท] และถ้าอยากได้ภาพไหน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 60 บาทต่อรูป ซึ่งงานวิ่งงานอื่นๆ ในโลก ไม่มีนะครับที่ขายรูปแบบนี้ เพราะเขาจะขายแบบให้เหมาเลยว่า ถ้าอยากได้ภาพ ก็จ่ายมา 2,000 โดยที่เรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า มีรูปเราอยู่ในนั้นไหม และถ้ามี มีอยู่เยอะหรือเปล่า [เทคโนโลยี "แยกแยะใบหน้า" สุดเจ๋งที่ใช้ในงานวิ่ง จนทำให้ได้รางวัล “International Innovation Awards 2019”] หลังจากที่เราใช้เทคนิคนี้ และได้มาตรฐาน “Bronze Label” มาเมื่อปีก่อน เราก็เลยมาคิดถึงอีก 1 ปัญหาที่เมืองไทยเรามีเยอะคือ เรื่องของการ “วิ่งแทน-วิ่งเปลี่ยนตัวกัน” เช่น บางคนเอาบิบ (เบอร์วิ่ง) ของผู้หญิงมาวิ่ง และตอนมารับรางวัลก็ให้แฟนไปรับ เพราะอยากได้ถ้วยและเงินรางวัล นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยของเราทุกอาทิตย์ ซึ่งคนเขาก็ไม่ชอบกัน แต่ไม่รู้จะทำยังไง เราก็รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสถิติของประเทศ มันต้องเชื่อถือได้ เพราะงานวิ่งของเราสามารถยื่นผลการแข่ง เทียบเวทีโอลิมปิกส์ระดับโลกได้ด้วย เราก็เลยเอาระบบ “Face ID” จากโปรแกรมจดจำใบหน้านี่แหละครับ มาแก้ปัญหานี้ [กรอกข้อมูลและเก็บไฟล์รูปภาพอย่างละเอียด เพื่อใช้ประมวลผลใน “Technology FaceX” ระบบจดจำ-แยกแยะใบหน้า] อย่างตอนสมัคร เราเป็นงานแรกในประเทศไทย ที่ต้องอัปโหลดรูปเข้าไปด้วย และเราก็แจ้งกติกาล่วงหน้าเลยว่า วันรับเบอร์วิ่ง คุณต้องมาด้วยตัวเองเท่านั้น พอมาถึงหน้างาน เอาบัตรประชาชนมาเสียบเข้าเครื่องดิจิตอลของเรา ระบบก็จะไปถึงรูปในบัตรประชาชน, รูปถ่ายตอนสมัคร และรูปถ่ายอีกใบที่ถ่ายเพิ่ม ณ เวลานั้น รวม 3 รูปไปตรวจสอบว่า 3 คนนี้คือคนเดียวกันไหม ถ้าคนเดียวกันก็ผ่าน เข้าไปรับเสื้อต่อได้ และหน้าของเขาจะถูกตรวจสอบตอนเดินเข้างานอีกครั้งนึง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนที่พยายามโกง มาขอเปลี่ยนตัววิ่งแทนระหว่างทาง ซึ่งระบบของเราก็สามารถตรวจสอบได้ว่า จากรูปถ่ายทั้งหมด 2 ล้านรูป ว่ามีหน้าไหนไม่ตรงกับที่สมัครบ้าง ซึ่งจะมีโทษทั้งคนให้วิ่งและคนที่วิ่งแทน และเราจะขอยึดเหรียญคืน และแบน 3-5 ปี แต่ถ้าไม่ให้ เราจะแบนตลอดชีวิต |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Bangsaen21”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **