xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ประกาศนโยบาย "สตรีทฟู้ด" ขยายพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศในปี 64 ประสาน ททท.ส่งเสริมท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ประกาศนโยบาย "สตรีทฟู้ด" จ่อขยายพื้นที่ต้นแบบเป็น 30 แห่งในปี 63 ตั้งเป้าครบทุกจังหวัดในปี 64 ด้วยมาตรฐานกรมอนามัย พร้อมประสานข้อมูลให้ ททท.ทำส่งเสริมการท่องเที่ยว ย้ำท้องถิ่นส่วนสำคัญในการเลือกพื้นที่ บริหารจัดการ ทั้งความปลอดภัย จราจร และขยะ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศนโยบายการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีของประเทศไทย (Kick off Street Food Thailand) ว่า สธ.โดยกรมอนามัยได้จัดทำมาตรฐานสตรีทฟู้ด ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีสตรีทฟู้ดต้นแบบแล้ว 12 แห่ง 12 จังหวัด ปี 2562 กำลังประกาศเพิ่มอีก 12 แห่ง เป็น 24 แห่ง และภายในปี 2563 จะขยายเพิ่มเป็น 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งที่ตลาดประมง ท่าเรือพลี จ.ชลบุรี ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการจัดการ จึงเลือกที่นี่เป็นแห่งแรกในการประกาศนโยบายสตรีทฟู้ด

"สตรีทฟู้ดถือเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ซึ่งทั่วโลกไม่มีที่ไหน มีที่ประเทศไทย และเป็นที่รู้จัก ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ จึงต้องมีการยกระดับสตรีทฟู้ดให้ได้มาตรฐาน คือ อร่อย สะอาด มีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งทาง สธ.จะมีการประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าสตรีทฟู้ดต้นแบบที่ได้มาตรฐานทั้ง 30 แห่งในปี 2563 มีที่ใดบ้าง เพื่อทำเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่อไป" นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะทำให้สตรีทฟู้ดประสบความสำเร็จ คือ การให้ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาจเลือกสถานที่ที่มีเรื่องราวที่จะสามารถไปบอกต่อหรือไปขายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ เช่น ท่าเรือพลีมีที่มาอย่างไร มีศาลเจ้าเก่าแก่อย่างไร เป็นการตลาดยุคใหม่ที่ต้องมี ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารคุณภาพ เพื่อให้รู้สึกว่าน่าสนใจและเดินทางมาในสถานที่นั้นๆ หากชุมชนมีความเข้าใจก็จะช่วยเพิ่มคุณภาพสร้างรายได้ได้ ซึ่งทางกรมอนามัยก็จะเข้าไปช่วยควบคุมด้วยกัน อย่างเรื่องป้าย Clean Food Good Taste ที่ให้ไปอาจจะประเมินทุกรอบที่กำหนดจากท้องถิ่นในการไปสุ่มตรวจดูสารปนเปื้อนอันตรายต่อสุขภาพ ความสะอาด เพื่อเป็นการยืนยันแก่นักท่องเที่ยวว่ามีความปลอดภัย

เมื่อถามถึงปัญหาการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. เพื่อแก้ปัญหารถติด คืนทางเท้าประชาชน แต่ผู้ค้าได้รับผลกระทบ นายสาธิต กล่าวว่า เราต้องอยู่ภายใต้การจัดการของท้องถิ่น เช่น กทม.จะจัดที่ไหนอย่างไรเป็นจุดผ่อนปรนก็เป็นเรื่องของท้องถิ่น เรื่องแบบของตลาด ต้องมีวิสัยทัศน์บริหารทำอย่างไรแบบไหน จะเลือกพื้นที่ตรงไหนที่เหมาะสม และเป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้ความสนใจเพียงพอ แต่เราจะเข้าไปช่วยเสริมเรื่องของมาตรฐาน คุณภาพทั้งหมด อย่างที่นี่กำหนดเป็นท่าเรือพลีเราก็มาส่งเสริมคุณภาพ และท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการจัดการเรื่องขยะ ตรวจสอบคุณภาพ

ถามถึงการจัดถนนคนเดิน 3 พื้นที่ของกทม.ทั้งสีลม เยาวราช ข้าวสาร จะต้องมีการเข้าไปดูเรื่องคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า แน่นอน เราต้องไปร่วมมือกับกทม.หรือท้องถิ่นทุกรูปแบบ ซึ่งกทม.มีความสำคัญมาก เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงประเทศไทยก็เริ่มต้นที่ กทม. เราอาจไปประกาศจุดนั้นเพิ่มเติมว่ามีมาตรฐาน เพื่อให้ ททท.นำไปให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งกทม.ก็มีสำนักอนามัย ซึ่งเราก็อาจไปประสานในการดำเนินการ

ถามต่อถึงปัญหาการจราจรในการจัดสตรีทฟู้ด นายสาธิต กล่าวว่า ตรงนี้ต้องช่วยกันแก้ปัญหาและจัดระเบียบ โดยท้องถิ่นอาจต้องประสานตำรวจหรืออาสาที่ต้องจัดจราจร เพราะหากจัดสตรีทฟู้ดสำเร็จ แต่รถแน่น เดินทางลำบากคนก็อาจจะไม่อยากมา ท้งหมดอยู่ที่การบริหารจัดการของท้องถิ่น และผู้บริหารตลาดนั้นๆ ด้วย

เมื่อถามถึงการจัดการปัญหาขยะ นายสาธิต กล่าวว่า อย่างของท่าเรือพลีที่ตนสอบถามก็จะมีคนเก็บขยะทันทีที่ผู้บริโภครับประทานเสร็จและก็จะไปบริหารจัดการ ถึงบอกว่าท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการ เพราะกรมฯ คงไม่มีกำลังพอเข้ามาในการจัดการเรื่องเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยท้องถิ่น บริหารตลาดดำเนินการ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมฯ จะขยายพื้นที่สตรีทฟู้ดต้นแบบให้ครบทุกจังหวัดในปี 2564 โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและขยายพื้นที่ดำเนินการดังนี้ 1.ให้รักษามาตรฐานต้นแบบอาหารริมบาทวิถี โดยใช้ป้ายสัญลักษณ์ “อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” (Street Food Thailand) 2.เพิ่มพื้นที่ในการจำหน่ายอาหารประเภทผัก ผลไม้ที่สะอาดปลอดภัย ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าด้านโภชนาการ ใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอ 400 กรัมต่อวัน และ 3.ให้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขาภิบาลอาหาร เช่น การปกปิดอาหาร การสร้างต้นแบบของพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐาน สำหรับพื้นที่สตรีทฟู้ดต้นแบบ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง และสงขลา




















กำลังโหลดความคิดเห็น