อดีต ส.ส.ระยอง - ชลบุรี ปชป. ออกโรงเตือน ครม. สัญจรที่จันทบุรี และตราด ว่า ต้องรับฟังและแก้ปัญหาแท้จริง อย่าฟังแต่กลุ่มทุน หรือแค่ “ทัวร์นกขมิ้น” หาเสียงเท่านั้น
วันนี้ (3 ก.พ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรี และ ครม. จะเดินทางไปประชุม ครม. สัญจรที่จังหวัดจันทบุรี และ ตราด ในวันที่ 5 - 6 ก.พ. นี้ ว่า ต้องขอบคุณที่ให้ความสำคัญกับภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี และ ตราด แต่ตนขอเรียกร้องให้เป็นการประชุม ครม. ที่ไม่เป็นเหมือนทัวร์นกขมิ้นเพื่อหาเสียงเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง แล้วนำไปกำหนดเป็นตัวโครงการ
นายสาธิต กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้วางพื้นฐานในการพัฒนาภาคตะวันออก โดยได้เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยยุทธศาสตร์ใหญ่ของพรรค คือ การรักษาสมดุลของการพัฒนาตัวเลขทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เดินไปพร้อมกัน ซึ่งวิสัยทัศน์นี้จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา กลับพบหลักฐานว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เทน้ำหนักไปด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องคุณภาพชีวิต โดยมีหลักฐานที่ปรากฏ ก็คือ 1. การออกคำสั่ง มาตรา 44 เพื่อให้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจ หรือการให้ยกเลิกผังเมืองเดิม และมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งพร้อมที่จะกำหนดผังเมืองตามนโยบายที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดโดยขาดการมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ เขาระบุว่า ยังมีหลักฐานว่า มีการออกมาตรการกฎหมายจูงใจในแง่ของการงดเว้นภาษีต่างๆ เพื่อผู้ประกอบการ นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยขาดสิ่งที่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตดังที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยดำเนินการไว้ หรือการมีโครงสร้างสมดุล
.
ทั้งนี้ นายสาธิต ได้ยกตัวอย่างถึงการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งเชิญคนกลางเป็นประธาน มีรัฐบาลเป็น 1 ในโครงสร้างดังกล่าว มีผู้ประกอบการ และมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด แก้ไขปัญหา เพื่อเดินร่วมกันไปสู่โครงการสำคัญๆ เช่น รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เคยใช้งบไทยเข้มแข็งทำน้ำประปาที่มีคุณภาพให้กับคนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง และอำเภอเมือง จ.ระยอง โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ประชาชนบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวกลับไม่เคยมีน้ำประปาใช้ก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ที่อนุมัติไปพร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ตรงกับปัญหาของพื้นที่มหาวิทยาลัย
“สิ่งที่ผมอยากเสนอและเรียกร้องไปยังรัฐบาล ว่า สิ่งที่คนภาคตะวันออกต้องการ ก็คือ โครงการในแง่ของคุณภาพชีวิต อาทิ โครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณพัทยา จันทบุรี ระยอง โครงการเพื่อแก้ปัญหารถติด จำพวกอุโมงค์ข้ามแยก หรือมอเตอร์เวย์ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหา เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น ขณะที่รัฐบาลเองก็ประกาศว่าจะต้องได้ตัวเลขการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อลงมาสู่พื้นที่นี้
ที่สำคัญที่สุด เมื่อ ครม. ลงพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ก็ต้องหวงแหนพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี และตราด ไม่ให้อุตสาหกรรมเข้าไปในพื้นที่ 2 จังหวัดนี้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่งเสริมการหาตลาดผลไม้ และส่งเสริมเรื่องการศึกษา ซึ่งขณะนี้ท้องถิ่นที่ จ.ระยอง มีการคิดระบบการศึกษารูปแบบพิเศษ ซึ่งไม่ใช่เป็นการคิดจากส่วนกลาง โดยการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พิเศษดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องมีความแตกต่างจากการศึกษาของชาติ เพราะต้องผลิตบุคลากรให้เข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว และการเกษตร อันเป็นการพัฒนาคุณภาพประชาชนให้มีภูมิคุ้มกันเท่าทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจในแง่ของอุตสาหกรรม
.
ทั้งนี้ นายสาธิต ยังได้เรียกร้องอีกด้วยว่า คนภาคตะวันออกต้องการการกระจายอำนาจ คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเป็นจังหวัดพิเศษ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องมานาน แต่ยังไม่มีการพูดถึง
ด้าน นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส. จังหวัดชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่จะมี ครม. สัญจร ในภาคตะวันออก ว่า มีสิ่งที่ประชาชนกำลังเป็นห่วงในขณะนี้คือการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในรับฟังความคิดเห็นในโครงการต่างๆ โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด อย่างเช่น น้ำท่วม รถติด อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้อง หรือคนในพื้นที่ปรับตัวไม่ทัน เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องผังเมือง มีการถมที่ทำหมู่บ้าน และโครงการต่างๆ ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ให้มาก อย่ารับฟังเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
“อยากให้รัฐบาล ในเมื่อจะไปประชุม ครม. สัญจรแล้ว ก็อยากให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ให้มาก อย่ารับฟังเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการรับฟังความเห็น ผมเองสังเกตเห็นว่านายกฯ จะรับฟังความคิดเห็นจากทุนขนาดใหญ่ ทำให้ความโน้มเอียงของการคิดโครงการต่างๆ มักเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่ชาวบ้านมีความเป็นห่วงต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่อย่างดั่งเดิม
ปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นรูปธรรม คือ เกิดการปรับค่าแรงให้สูงขึ้นทันที หลังจากมีการประกาศโครงการ EEC ทำให้เกิดเสียงบ่นจากผู้ประกอบการที่มีแรงงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากกลับไม่เห็นรูปธรรมในการพัฒนาโครงการ EEC เลย แต่ค่าแรงกลับปรับขึ้นไปแล้วล่วงหน้า เมื่อค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
จึงอยากให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี เข้าไปดูแลและควบคุม โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังมีธรรมชาติสวยงาม และมีศักยภาพในการท่องเที่ยว อย่างจังหวัดจันทบุรี ตราด โดยนายกฯ ต้องใจแข็งว่า ถ้ามีผู้ประกอบการ หรือกลุ่มทุนในพื้นที่เรียกร้องให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น ก็ต้องชั่งใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นคุ้มค่ากับทรัพยากรที่จะเสียไปหรือไม่” นายสรวุฒิ กล่าวและระบุว่า นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือการเก็งกำไรที่ดินในจังหวัดภาคตะวันออก ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ใจกลางเมืองไปอยู่พื้นที่ห่างไกล เกิดค่าใช้จ่ายในการสัญจรสูงขึ้น และการเก็งกำไรที่ดินไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีการเปลี่ยนมือเจ้าของบ่อยๆ อยากให้รัฐบาลช่วยผ่อนผัน บรรเทาค่าครองชีพในส่วนที่เป็นค่าที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้โดยไม่ต้องมีภาระค่าเช่ามากนัก