โดย...ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรี กรมศิลปากร
วันที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงอนุรักษ์ศิลปกรรมของชาติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายในการเชิดชูเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงปลูกฝังจิตสำนึกให้คนไทยเกิดความรักและความภาคภูมิใจในชาติของตน ในรัชกาลของพระองค์นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยหลายอย่าง อีกทั้งพระองค์ยังทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานแสดงศิลปหัตถกรรมไทยถึง 12 ครั้งด้วยกัน ระหว่างพุทธศักราช 2453-2468 ทรงฟื้นฟูงานช่างสิบหมู่ ทรงส่งเสริมการวาดจิตรกรรมฝาผนัง ทรงสถาปนาวรรณคดีสโมสร ทรงพอพระราชหฤทัยรูปแบบของอาคารทรงไทย ทรงออกประกาศการจัดตรวจรักษาของโบราณขึ้น เมื่อ พุทธศักราช 2466 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกสำหรับความคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของชาติฯลฯ
นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น งานด้านมหรสพของชาติยังเป็นงานด้านศิลปวัฒนธรรมอีกแขนงหนึ่ง ที่พระองค์โปรดและให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ พุทธศักราช 2453 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมขึ้นใหม่อีกหนึ่งกรมนั้นคือ “กรมมหรสพ” แล้วให้โอนการมหรสพทั้งปวงไปรวมอยู่ในกรมมหรสพที่ตั้งขึ้นใหม่ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสถานที่สำหรับกรมนี้ไว้อย่างกว้างขวาง นั่นก็คือพระราชวังจันทรเกษม ปัจจุบันคือที่ตั้งกระทรวงศึกษาธิการ กินพื้นที่ยาวมาใช้สถานที่ในสวนมิสกวันด้วย เหตุที่ต้องใช้พื้นที่มากมายนั้น เป็นเพราะว่าในกรมมหรสพนี้จะต้องมีทั้งโรงเรียน โรงโขน โรงฝึกซ้อม โรงพยาบาล คลังเครื่องโขน ที่พักอาศัย ฯลฯ
ในระยะแรกได้แบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมต่าง ๆ ดังนี้ กรมโขน (เดิม) เปลี่ยนชื่อเป็น กรมโขนหลวง และกรมปี่พาทย์มหาดเล็ก (เดิม) เปลี่ยนชื่อเป็นกรมปี่พาทย์หลวง โดยมีหลวงสิทธิ นายเวร (น้อย ศิลปี) ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ควบคุมและขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นพุทธศักราช 2456 ได้มีการแบ่งส่วนราชการในกรมมหรสพและแต่งตั้งเจ้ากรมขึ้นใหม่ ดังนี้
1. กรมโขนหลวง มีพระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เป็นเจ้ากรม
2. กรมปี่พาทย์หลวง มีพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เป็นเจ้ากรม
3. กรมช่างมหาดเล็ก มีพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เป็นเจ้ากรม
4. กองเครื่องสายฝรั่งหลวง มีพระนนททิพย์พิลาศ (เอวัน วาระศิริ) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐไพเราะ และพระยาวาระศิริราชเสนี เป็นปลัดกรมคนแรก (เพราะมีฐานะเป็นกอง) ภายหลังมีพระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยะกร) เป็นปลัดกรม
ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวง เฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการเป็นผู้บัญชาการ และเป็นกรมที่ขึ้นตรงต่อกรมมหาดเล็ก มีผู้บังคับบัญชากำกับดูแลอีกขั้นหนึ่ง และขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อกรมมหรสพนี้เป็นอย่างมาก นอกจากกรมมหรสพที่โปรดให้ตั้งขึ้นใหม่แล้ว ในพระราชวังทุก ๆ แห่งในรัชสมัยของพระองค์ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงละครหลวงไว้ใช้สำหรับแสดงละครอีกด้วย
การที่พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในงานด้านศิลปะถึงเพียงนี้ เกิดจากการที่พระองค์มีโอกาสทอดพระเนตรศิลปะต่าง ๆ ในหลายสาขาระหว่างประทับและทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ เมื่อเสด็จ ฯ กลับประเทศไทยจึงทรงส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ และการละครของชาติ ด้วยทรงประจักษ์ในคุณค่าศิลปะวัฒนธรรมไทย นับเป็นบุญของเหล่าศิลปินและพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่งที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทะนุบำรุงและฟื้นฟูศิลปกรรมไทยทุกสาขา และทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย เพราะทรงตระหนักดีว่า “ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งแสดงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ”