คำว่า “อยู่ให้เป็น” ไม่ใช่ความหมายเพียงการพยายามปรับตัวแบบดูทิศทาง หรืออยู่แบบดูตาม้าตาเรือและปรับตัวเพื่ออยู่รอดเฉพาะหน้าให้ได้
และคำว่า “อยู่ให้เป็น” ก็ไม่ใช่ในความหมายประชดประชันหรือเสียดสี ประมาณว่าต้องทำตัวแบบคำเปรียบเปรยว่าเปลี่ยนสี เปลี่ยนข้างเพื่อความอยู่รอด เพราะถ้าไม่ปรับก็เท่ากับ “อยู่ไม่เป็น”
แต่ในที่นี้ต้องการสื่อถึงพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกยุคนี้ ต้องคำนึงถึงการเลี้ยงให้ลูก “อยู่ให้เป็น” ด้วย
ยิ่งสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สภาพครอบครัวก็เปราะบาง ยังมีเทคโนโลยีที่มาแรงและมาเร็ว มาทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องปรับตัวอย่างมาก
โครงสร้างสถาบันครอบครัวเปราะบางลง อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น การแต่งงานที่ช้าลง ค่านิยมของการแต่งงานแบบไม่มีลูก หรือมีลูกคนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความที่มีลูกยากหรือมีลูกคนเดียว แนวโน้มที่พ่อแม่จะตามใจลูกก็ยิ่งสูงมากขึ้นไปด้วย เพราะกลัวลูกลำบาก ไม่อยากให้ลูกเหนื่อย ไม่ปล่อยให้ลูกได้ทำสิ่งใดด้วยตัวเอง พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะช่วยหรือทำให้ เพราะห่วงสารพัดสุดท้ายลูกก็เลยทำอะไรไม่เป็น
และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ลูกไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาพ่อแม่ผู้ปกครองจนเติบใหญ่
เราคงไม่อยากให้ลูกของเราเป็นอย่างนี้มิใช่หรือ !
เราควรจะส่งเสริมให้ลูก “อยู่ให้เป็น” “อยู่ให้ได้” แม้ในวันที่ไม่มีพ่อแม่มิใช่หรือ !
“อยู่ให้เป็น” ได้อย่างไร?
หนึ่ง - อยู่กับตัวเอง
สอนให้ลูกรู้จักตัวเอง เพราะการรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพื้นฐานชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจะนำไปสู่การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต รู้ว่าตนเองมีความถนัด ความชอบ และความสามารถในด้านใด รู้วิธีเฉพาะตัวที่ถนัดในการเรียนรู้ของตนเองว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หรือรู้จุดอ่อนของตัวเองทำให้พยายามหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้นๆ
ทักษะการรู้จักตัวเองเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูก เพื่อนำไปสู่การรู้จักตัวเอง เป็นรากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ
สอง - อยู่กับผู้อื่น
มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องมีการปรับตัว เพราะแต่ละคนถูกเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน ทั้งทางด้านสังคม การศึกษา และประสบการณ์ก็แตกต่างกัน ทำให้แต่ละคนแตกต่างกันทั้งความคิด ความชอบ ฯลฯ ฉะนั้น การรู้จักวางตัว กำหนดใจให้เหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ให้เกียรติผู้อื่น มีมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อเจอผู้ใหญ่ โดยรวมก็คือการปรับตัวปรับใจของตนเอง เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นให้ได้ โดยปราศจากความขัดแย้ง หรือถ้ามีความขัดแย้งก็สามารถบริหารจัดการให้อยู่ร่วมกันได้
สาม - อยู่กับธรรมชาติ
พ่อแม่ควรชวนพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ของธรรมชาติและมนุษย์ ทำไมมนุษย์ต้องพึ่งพาธรรมชาติ แล้วลูกควรจะอยู่อย่างไรกับธรรมชาติอาจจะยกตัวอย่างภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกจริงๆ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวด้วยสภาพอากาศในบ้านเรา ลองถามว่าทำไมปีนี้ฤดูหนาวกลับร้อน และบางวันก็มีฝนตกอีกต่างหาก แล้วให้เขาลองคิดไปถึงเมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร และชวนเขาคิดว่า น่าจะเป็นเพราะอะไร หรืออาจจะชวนคุยเรื่องพายุหิมะที่เกิดขึ้นที่ยุโรป หิมะที่ตกหนักในประเทศจีน และภัยธรรมชาติอีกมากมายที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก น่าจะมีสาเหตุจากอะไร นำมาเป็นประเด็นพูดคุยกัน
ยกตัวอย่าง ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมนุษย์มีส่วนมากน้อยอย่างไร สภาวะโลกร้อนมีส่วนด้วยหรือไม่ จากนั้นก็สอนให้ลูกช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย รวมถึงการใช้พลังงานธรรมชาติทุกชนิดอย่างรู้คุณค่าและประหยัดทรัพยากร เช่น น้ำ ไฟ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติไปด้วยรวมถึงสอนวิธีการป้องกันตัว และปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อลูกตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวจริงๆ ก็ควรให้เขาเรียนรู้ว่าไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท
ทางที่ดีควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเล็ก พ่อแม่ควรมีบทบาทในการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการอยู่กับธรรมชาติให้เป็น
สี่ - อยู่ที่ไหนก็ได้
ยุคนี้มีความจำเป็นมากที่จะฝึกให้ลูกอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ก็ได้โดยไม่มีพ่อแม่ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องความตายอย่างเดียว แต่การฝึกให้ลูกคิดว่าลูกควรจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ก็จะทำให้พ่อแม่มีวิธีคิดในการเลี้ยงลูกที่อยากให้ลูกมีความเข้มแข็ง จะเน้นทักษะให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ให้ลูกรู้จักความลำบาก ให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด มั่นใจในตัวเอง ฝึกให้มีทักษะเรื่องการอยู่รอด หรือสามารถอยู่ได้โดยไม่มีพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพด้วย
ห้า - อยู่กับเทคโนโลยี
โลกยุคดิจิทัลเต็มไปด้วยเทคโนโลยี เด็กที่เกิดมาในยุคนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเด็ก Digital Native (พลเมืองยุคดิจิทัล) การฝึกให้ลูกรู้เท่าสื่อ ใช้สื่อดิจิทัลให้เป็น ไม่ใช่เป็นทาสของเทคโนโลยี เพราะเด็กยุคนี้จะพึ่งพาเทคโนโลยีแทบจะตลอดเวลา และมีแต่ความสะดวกสบายล้อมรอบตัว จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นถึงข้อดีข้อเสีย และมีกฎเกณฑ์กติกาเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของลูก
หก- อยู่แบบมีคุณค่า
การเติบโตแต่ละช่วงวัยไม่ควรให้เติบโตเพียงร่างกาย แต่ควรให้ลูกเติบโตทางด้านจิตใจด้วย การ“อยู่ให้เป็น” ควรอยู่แบบเห็นคุณค่าของตัวเอง และเห็นคุณค่าของผู้อื่นด้วย เมื่อเห็นคุณค่าแล้วจะทำให้คนเราอยากมีชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วย
จะเห็นได้ว่าการ “อยู่ให้เป็น” ในโลกยุคใหม่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับลูกหลานเรา
ว่าแต่ตอนนี้พ่อแม่ลองสำรวจตัวเองด้วยว่า “อยู่ให้เป็น” แล้วหรือยัง ?