xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังยืนยันไทยไม่มีความเสี่ยงการทำธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.อุตตม สาวนายน ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับรายงานของสภาธุรกิจโลก (World Economic Forum) เรื่องความเสี่ยงในระดับโลกและระดับภูมิภาคในการทำธุรกิจ (Regional Risk of Doing Business 2019) ว่า ข่าวที่ออกมาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในบางกรณี ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงานเพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศเตรียมรับมือภาวะการณ์ต่างๆ ที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ใช่การรายงานภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเป็นการสอบถามความคิดเห็นจากนักลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับการคาดการณ์ในอนาคต

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 เพราะหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 50 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 56.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ความเสี่ยงที่ 2 คือ เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีการลักลอบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ความเสี่ยงที่ 3 คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สถานการณ์ของเกาหลีเหนือ หรือแรงกดดันจากสถานการณ์สหรัฐฯ-จีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม WEF ยังได้ทำการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขันปี 2019 ด้วย โดยประเทศไทยมีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปี 2018 คือจากเดิม 67.5 คะแนน เป็น 68.1 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ ดังนั้น จึงขอย้ำว่า รายงานดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงในวันนี้ แต่เป็นการสำรวจเพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีความเสี่ยงในอนาคตแต่ละหัวข้อดังกล่าวในระดับใดเท่านั้น

นายอุตตม ระบุว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยนั้น แม้ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่รัฐบาลได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยว ผ่านโครงการ "ชิมช้อปใช้" การประกันรายได้สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และล่าสุด มันสำปะหลัง ซึ่งทำให้เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา กำลังซื้อและการบริโภคในประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

ส่วนด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงก่อนสิ้นปี 2562 รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือจะมีการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปี 2562 และในปี 2563 ได้อย่างต่อเนื่อง การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 2562 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 – ตุลาคม 2562 จำนวน 122,088 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม

ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณในปี 2563 ยอดเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีการเบิกจ่าย จำนวน 7,975 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสียของการประปานครหลวง งานก่อสร้างปรับปรุงขยายและงานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 1 ปี 2559 ของการเคหะแห่งชาติ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งสนใจการลงทุนด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่ จึงเชื่อมั่นว่า ด้วยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแผนปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ การดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ จะช่วยผลักดันไทยสามารถรับมือแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะติดตามและวิเคราะห์ผลแต่ละมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง