xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงาน ย้ำ ปราบปรามผู้ค้ามนุษย์ แรงงานทุกสัญชาติ ต้องได้รับการคุ้มครอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงแรงงาน ย้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุกในพื้นที่ เข้าถึงผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพิ่มความพยายามให้แรงงานทุกสัญชาติ ได้รับการคุ้มครอง

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ห้องแกรนด์รัชดา ชั้น 5 อาคารธารทิพย์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของสำนักงานแรงงานจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีความพยายามอย่างมาก ที่จะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จนมีพัฒนาการสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดมาตรการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานทุกสัญชาติตามมาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียม โดยจัดระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ การกำหนดมาตรการตรวจสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ผ่านกระบวนการตรวจแรงงาน รวมทั้งให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง

โดยในปี 2561 และ 2562 สหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในระดับ Tier 2 ติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังมีข้อเสนอแนะด้านการป้องกันที่สำคัญหลายประการ ประกอบกับ กระทรวงแรงงานได้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับการอนุวัติการตามพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป ทั้งการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ ให้สามารถเข้าถึงผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตลอดจนเพิ่มความพยายามให้แรงงานทุกสัญชาติ ได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ ตามกฎหมาย”

การประชุมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในพื้นที่ ตลอดจนสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสาระสำคัญของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 และเพื่อซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในพื้นที่ 76 จังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงานและสำนักงานแรงงานจังหวัด จำนวน 110 คน




กำลังโหลดความคิดเห็น