xs
xsm
sm
md
lg

4 ธ.ค.เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว "ห้าแยกลาดพร้าว-ม.เกษตร" เผยคืบแล้ว 95% สัปดาห์หน้าทดลองเสมือนจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ตรวจความพร้อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว 4 สถานี "ห้าแยกลาดพร้าว-ม.เกษตรฯ" คืบหน้า 95% เตรียมเปิดบริการ 4 ธ.ค.นี้ สัปดาห์ทดลองเดินรถเสมือนจริง ปลายปี 63 เปิดบริการได้ทั้งหมดถึงคูคตเร่งติดตั้งสปริงเกอดร์ดับฝุ่น PM 2.5 สถานีสยามและอโศก

วันนี้ (13 พ.ย.) นายสกลธี ภัทธิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายอำนาจ คงไทย รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีห้าแยกลาดพร้าว – คูคต โดยได้ทดลองนั่งรถไฟฟ้าจากสถานีห้าแยกลาดพร้าวถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายสกลธี กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจดูความเรียบร้อย และความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะเปิดให้บริการต้นเดือน ธ.ค.นี้ อีก 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีพหลโยธิน สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการคืบหน้าไปประมาณ 95% แล้ว โดยการดำเนินการทุกอย่างจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ปัจจุบันมีการทดลองเดินรถอยู่บ้างแล้ว แต่ในสัปดาห์หน้าจะเริ่มทดลองเดินรถเสมือนจริง ส่วนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อไรนั้น รอรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้ง 4 สถานีอย่างเป็นทางการแล้ว จะช่วยในเรื่องการจราจรบริเวณดังกล่าวได้ สำหรับเรื่องของค่าโดยสารนั้นจะต้องรอการอนุมัติการร่วมทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ซึ่งเมื่อทาง ครม.อนุมัติให้ร่วมทุนแล้วก็จะทราบได้ว่า จะจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเท่าไร คาดว่าจะสามารถทราบได้ภายในเดือนนี้ ส่วนการก่อสร้างสถานีที่เหลือถึงสถานีคูคตคาดว่า ปลายปี 2563 จะสามารถเปิดให้บริการได้ทั้งหมด โดยมีจุดจอดรถไว้บริการประชาชนบริเวณก่อนถึงสถานีคูคต ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 1,700 คัน 

นายสกลธี กล่าวว่า ส่วนกรณีการติดตั้งสปริงเกอร์ดักฝุ่น PM2.5 ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการขนส่งกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมกำหนดให้มีการติดตั้งสปริงเกอร์ดักจับฝุ่น PM2.5 เพิ่มอีก 3 จุด คือ ศาลาแดง สยาม อโศก โดยวันนี้ได้เริ่มติดตั้งจุดแรกบริเวณศาลาแดง จากนั้นก็จะมาติดตั้งที่ สยาม และอโศกต่อไป ซึ่งเมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้วสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จะจัดเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผลว่าเป็นอย่างไร หากสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ได้ผลก็จะติดตั้งในจุดต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะในจุดที่มีการสะสมของฝุ่นค่อนข้างเยอะ สำหรับการติดตั้งสปริงเกอร์ดักจับฝุ่น PM2.5 นั้นได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว 1 จุด บริเวณสถานีสะพานควาย ผลออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแล้วว่าสามารถช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้จริง ซึ่งสปริงเกอร์ที่จะติดตั้งทั้ง 3 จุดนั้นก็เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ติดตั้งบริเวณสะพานควาย
















กำลังโหลดความคิดเห็น