xs
xsm
sm
md
lg

“จุฬา-กรมป่าไม้” นำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ใช้แล้วมาเพาะกล้าไม้เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุฬาฯ จับมือ กรมป่าไม้ นำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ใช้แล้วเดือนละกว่า 1 แสนใบมาเพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจ แจกกล้าไม้แก่ประชาชน เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดปัญหาขยะ

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup) เพื่อการเพาะชำกล้าไม้เศรษฐกิจ

ศ.ดร.บุญไชย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการต่อยอดในการนำแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ใช้แล้วภายในโรงอาหาร จุฬาฯ 17 แห่ง เฉลี่ยประมาณ 1.2 แสนใบต่อเดือน ซึ่งแก้วนี้คุณสมบัติย่อยสลายได้ในดิน นำไปให้กรมป่าไม้ใช้ทดสอบเพาะชำกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า พร้อมกันนี้ยังเป็นการผลักดันการกำจัดขยะในรั้วจุฬาฯ อย่างครบวงจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำภาพผู้นำด้านการจัดการขยะของประเทศ

“จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอย จึงได้จัดตั้งโครงการ Chula Zero Waste เพื่อป้องกันหรือลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ทำให้ในปัจจุบันโรงอาหารภายในจุฬาฯ กว่า 17 แห่ง ได้เปลี่ยนมาใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ หรือ zero-waste cup ที่ย่อยสลายได้ทั้งหมดภายใน 4-6 เดือน ซึ่งนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินได้ โครงการทดสอบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้นี้ จะนำแก้วที่ใช้แล้วจากโรงอาหารของ จุฬาฯ ไปใส่ต้นไม้ที่ปลูกในป่า นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด และถือเป็นการกำจัดขยะ อย่างครบวงจร ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุหรือ PETROMAT ร่วมมือกับกรมป่าไม้ในการขับเคลื่อนให้โครงการนี้เดินหน้าได้ต่อไป” ศ.ดร.บุญไชย กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือกับกรมป่าไม้ครั้งนับว่าเป็นการนำร่อง ขณะเดียวกันกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หันมาใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตปัญหาขยะจะได้ลดลงตามไปด้วย

ด้านนายปรมินทร์ กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการผลิตกล้าไม้คุณภาพดีและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ ทางกรมป่าไม้จึงเพาะกล้าไม้มีค่า หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้พยุง ประดู่ ไม้ชิงชัน เป็นต้น ให้ประชาชนนำไปปลูกปีหนึ่งประมาณ 100 ล้านต้น เนื่องจากไม้เหล่านี้มีราคาสูงและยังเป็นที่ต้องการของชาวไทยและต่างชาติ ดังนั้น กรมป่าไม้ ต้องการวัสดุในการเพาะกล้าไม้จำนวนมาก และยินดีรับแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการเพาะกล้าไม้ และอย่างน้อยจะได้ลดการใช้ถุงพลาสติกปลูกต้นไม้ได้บ้าง ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกปลูกต้นไม้กว่า 30 ล้านต้น

“หากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ร้านกาแฟ พร้อมใจกันหันมาใช้แก้วที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้รวดเร็ว และมีระบบคัดแยกขยะที่ดี แล้วส่งแก้วมาให้กรมป่าไม้นำไปเพาะกล้าไม้ นอกจากปลุกจิตสำนึกและช่วยลดปัญหาขยะ ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศอีกด้วย” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น