ประจวบคีรีขันธ์ - อธิบดีกรมป่าไม้ เผยฝ่ายกฎหมายฯ มีมติในที่ประชุมของกรรมการ แจ้งเพิกถอนที่ดินเช่าบริเวณเขาตะเกียบ พร้อมให้ทำหนังสือแจ้งผู้เช่าทราบตามขั้นของกฎหมาย เริ่มจากพักใช้ใบอนุญาต 120 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่ง หลังมีเรื่องร้องเรียนการใช้เครื่องจักรขุดถนน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมาย สำนักการอนุญาตได้รายงานมติในที่ประชุมคณะกรรมการของหน่วยงานเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา แจ้งเพิกถอนที่ดินเช่าบริเวณเขาตะเกียบ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทเอกชนขอเช่าใช้พื้นที่ 32 ไร่ ทำสัญญาเช่ากับกรมป่าไม้ 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 สิ้นสุดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี จะทำหนังสือแจ้งผู้เช่าทราบตามขั้นของกฎหมาย เริ่มจากพักใช้ใบอนุญาต 120 วันนับตั้งแต่มีคำสั่ง ซึ่งตามหลักการบริษัทเอกชนต้องยุติการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทันที แต่ในกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้เช่าพื้นที่ยื่นอุทธรณ์หรือฟ้องศาลปกครองขอให้พิจารณาคุ้มครองชั่วคราวได้ภายในเวลาที่กำหนด
โดยกรมป่าไม้จะยื่นหลักฐานโต้แย้ง เนื่องจากพบว่าการใช้พื้นที่มีปัญหาข้อพิรุธหลายประการ ส่วนการใช้อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กของร้านอาหารลาแมในพื้นที่เช่า โดยไม่มีใบอนุญาตการก่อสร้างและใช้อาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ก็ต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะส่วนหรือไม่ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือหมดสัญญาเช่าบริษัทเอกชนต้องยุติกิจการทั้งหมดทันที
“ที่ผ่านมาหลังมีการร้องเรียนว่ามีการใช้เครื่องจักรกลหนักขุดถนน ถมดินลูกรังสร้างเส้นทางจากร้านอาหารไปจุดชมวิวด้านพระยืนริมหาดหัวหิน ยาวกว่า 100 เมตร เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 กรมป่าไม้ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงข้าราชการที่มีหน้าที่สำรวจและรายงานก่อนส่งให้กรมป่าไม้พิจารณาออกใบอนุญาตในยุคอดีตอธิบดีคนก่อน และได้สั่งย้ายข้าราชการระดับสูง 2 ราย ออกนอกพื้นที่แล้วเพื่อไม่ให้มีปัญหาในขั้นตอนการสอบสวน และคาดว่าหลังจากนั้นอาจจะมีการย้ายหรือสั่งลงโทษเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่าขั้นตอนของการรายงานก่อนออกใบอนุญาตที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน” นายอรรถพล กล่าว
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันฯ กรมป่าไม้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เจ้าหน้าที่บางรายอาจจะไม่ได้มาทำรังวัดก่อนกำหนดพื้นที่เช่า ทำให้มีการปักหมุดขึ้นไปบนโขดหิน ที่สำคัญการอนุญาตระบุไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม