บอร์ด สปสช.รับทราบผลการรับฟังความเห็นทั่วไปปี 62 พบผู้มีส่วนได้เสียร่วมให้ข้อเสนอกว่า 1 หมื่นราย ส่วนใหญ่เสนอด้านบริหารกองทุน ขอเพิ่มงบลงพื้นที่-ย้ายหน่วยบริการใช้สิทธิได้ทันที
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ร่วมกันรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2562 ซึ่งมีการเปิดรับฟังจากผู้มีส่วนได้เสียระดับเขตพื้นที่และระดับประเทศ รวมจำนวน 10,445 คน พร้อมทั้งการแสดงความคิดเห็นฯ ทางสื่อออนไลน์ อีกจำนวน 4,561 ราย
สำหรับผู้มีส่วนได้เสียที่ร่วมเสนอความคิดเห็นทั่วไปฯ ปี 2562 แบ่งเป็นระดับพื้นที่จำนวน 10,096 คน และระดับประเทศจำนวน 349 คน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ พระสงฆ์ กลุ่มเปราะบาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลุ่มผู้ให้บริการ และกลุ่มผู้รับบริการ ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ได้ถูกจัดกลุ่มเพื่อมอบอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรื่องที่มีข้อเสนอจากการรับฟังความคิดมากที่สุด คือประเด็นการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการบริหารจัดการสำนักงาน มีจำนวน 95 ข้อ จากทั้งหมด 255 ข้อ หรือ 37% โดยเป็นข้อเสนอ เช่น เพิ่มงบส่วฃงเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระดับเขตพื้นที่ (PPA) ลงพื้นที่ให้มากขึ้น ปรับเวลาการย้ายหน่วยบริการให้ใช้สิทธิได้ทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นต้น
ในส่วนของข้อเสนอรองลงมา ประกอบด้วย ประเด็นประเภทและขอบเขตบริการฯ 49 ข้อ เช่น ทันตกรรมรักษารากฟันแท้และครอบฟัน การฝังรากฟันเทียม ประเด็นการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น กองทุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระยะยาว (Long Term Care) และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 29 ข้อ เช่น กองทุนท้องถิ่นที่มีเงินเหลือเกิน 2 เท่า ให้คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) พิจารณาจัดสรรให้ท้องถิ่นภายในเขต
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ข้อเสนอถัดมาคือ ประเด็นการมีส่วนร่วม การรับรู้ การคุ้มครองสิทธิ 27 ข้อ เช่น เพิ่มช่องทางสื่อสารให้นักปกครองท้องที่ สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีทำหมันแล้วตั้งครรภ์ทุกกรณี เป็นต้น
“นอกจากนี้ยังมีประเด็นมาตรฐานบริการสาธารณสุข 23 ข้อ เช่น ให้มีมาตรฐานรายการยาที่เท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน ประเด็นประชากรกลุ่มเปราะบาง พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา 22 ข้อ เช่น ตั้งกองทุนสนับสนุนการจัดบริการสำหรับพระสงฆ์ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน และประเด็นการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก 10 ข้อ เช่น เพิ่มรายการยาปรุงเฉพาะรายในบัญชียาหลักแห่งชาติ” ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานว่า ภายหลังบอร์ด สปสช.ได้รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ประจำปี 2562 ยังได้มอบให้ สปสช.นำเสนอคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง และให้ สปสช.รวบรวมผลการดำเนินงานตามข้อเสนอรับฟังความคิดเห็น ปี 2562 สื่อสารเผยแพร่ให้แก่กลุ่มเป้าหมายและสาธารณะต่อไป