คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินแนวคิดที่ว่าเสียงดนตรีที่ไพเราะชวนรื่นรมย์ช่วยขับกล่อมเลี้ยงดูเด็กให้มีจิตใจแจ่มใสและมีพัฒนาการที่ดี ลองจินตนาการในทางตรงกันข้าม หากเปลี่ยนเสียงดนตรีเป็นเสียงคนตะโกนด่าทอกันอย่างเกรี้ยวกราดในทุกวัน เด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร?
ปัญหาความไม่ลงรอยกันของคนเป็นสามีภรรยาจนเป็นเหตุให้ต้องกระทบกระทั่งกันนั้นมีหลากหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเงิน การปรับตัวเข้าหากัน หรือมีแนวทางการเลี้ยงลูกที่ต่างกัน ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด เมื่อมีการสาดใส่อารมณ์ทั้งโดยคำพูดและการกระทำต่อกันแล้ว ล้วนมีแต่สร้างความทุกข์ใจให้กับเด็กที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้
การทะเลาะกันต่อหน้าหรือแม้แต่ในยามที่ลูกน้อยนอนหลับ คุณพ่อคุณแม่คงไม่รู้เลยว่าลูกๆกำลังเปิดรับและจดจำบรรยากาศอันตึงเครียด รวมทั้งน้ำเสียงแห่งความโกรธของคนในครอบครัว เก็บสะสมและพร้อมที่จะทำการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่รบกวนจิตใจนี้ออกมาในไม่ช้า เกิดเป็นผลกระทบที่ตกกับตัวเด็กได้ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ดังนี้
1.บั่นทอนพัฒนาการ ภายใต้บรรยากาศการทะเลาะกันของคนในครอบครัว เด็กต้องเผชิญกับภาวะความเครียด ความกดดัน รู้สึกหม่นหมองใจและเป็นทุกข์ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมกับช่วงวัย เป็นผลทำให้ร่างกายขาดความสมบูรณ์แข็งแรง เจ็บป่วยได้ง่าย ขาดสมาธิและแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆให้เป็นผลสำเร็จ
2.พฤติกรรมเลียนแบบ เด็กมักเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากบุคคลใกล้ตัว เด็กจึงมีแนวโน้มที่จะซึมซับรับเอาพฤติกรรมการทะเลาะกันของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการพูดโต้เถียงกันเสียงดัง การพูดจาต่อว่า เสียดสี ประชดประชัน ดูถูกหรือให้ร้ายคนอื่น รวมถึงการใช้กำลังและความรุนแรงมาใช้ในการรับมือเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆโดยเห็นเป็นเรื่องปกติ
3.ขาดทักษะในการแก้ปัญหา การเลียนแบบพฤติกรรมความขัดแย้งของคนในครอบครัวซึ่งเต็มไปด้วยการใช้อารมณ์ ยังส่งผลให้เด็กขาดการเรียนรู้ทักษะการใช้เหตุผลและความอดทนในการแก้ปัญหาเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น จึงยากต่อการแก้ไขปัญหาในชีวิตและเกิดความคับข้องใจเมื่อต้องพบกับอุปสรรคและหลายสิ่งไม่เป็นดังที่หวัง
4.รู้สึกไม่มั่นคง ความตึงเครียดซึ่งทุกฝ่ายพร้อมที่จะระเบิดอารมณ์ขึ้นได้แม้ต่อหน้าและลับหลัง ผลักให้เด็กต้องอยู่กับความวิตกกังวลถึงสิ่งที่คาดเดาไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิตนี้เองที่มีผลต่อการพัฒนาความมั่นคงทั้งทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก กลับปลูกฝังการขาดความมั่นใจหรือความภูมิใจในตัวเองเข้ามาแทนที่ จนไปขัดขวางการสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้อื่นตามมา
5.สร้างปมในใจ การสร้างปมในใจเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากความรู้สึกไม่มั่นคงต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ทำให้เด็กเก็บเรื่องราวเพื่อรอเวลาแสดงออกมาในลักษณะต่างๆที่มักตรงข้ามกับความคาดหวังทางสังคม บางคนเกิดความกลัวฝังใจจนเก็บตัวและไม่กล้าผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น บางคนโทษตัวเอง แบกรับปัญหาจนรู้สึกน้อยใจในโชคชะตา ขณะที่บางคนมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำตัวแปลกแยกเพื่อปกปิดปมในใจ
เมื่อการทะเลาะกันเกิดผลเสียมากถึงเพียงนี้ ขณะที่การห้ามไม่ให้ทะเลาะกันต่อหน้าลูกด้วยการตัดปัญหาแยกทางกันก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ส่งผลดีกับเด็กเลยแม้แต่น้อย เพราะหน้าที่สำคัญของทั้งคุณพ่อคุณแม่คือ ต้องไม่ปล่อยให้ลูกแบกรับความทุกข์และเข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาของผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัว จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาใช้เวลาทบทวนเรื่องราวและลองใช้แนวทางเหล่านี้ในการแก้ไขปัญหา
1.ตั้งสติเพื่อทำความเข้าใจ บ่อยครั้งที่การทะเลาะกันเกิดขึ้นเพราะขาดสติจนขาดความยับยั้งชั่งใจ มุ่งแต่จะเอาชนะโดยไม่พิจารณาเหตุผลรอบด้าน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ควรถอยหลังกันคนละก้าวแทนการเดินหน้าฟาดฟัน หามุมสงบให้เวลากับตัวเองได้ตั้งสติและลดอารมณ์โกรธ มองหน้าลูกและคิดทบทวนเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหาพื้นที่ส่วนตัวพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
2.ลดการยึดถือตัวตนลง เมื่อชีวิตคู่ดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างต้องการเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด เมื่อมีเหตุให้ต้องกระทบกระทั่งกัน จึงมักถือทิฐิมุ่งปกป้องสิ่งที่ตัวเองยึดถืออย่างไม่ลดราวาศอก โดยหลงลืมไปว่าต่างฝ่ายก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันการสร้างครอบครัวที่เหมาะสมสำหรับลูก ลดการยึดถือตัวตนของตัวเองลงและย้ำเตือนตัวเองเสมอว่า ความสุขของลูกเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด
3.สร้างครอบครัวบนพื้นฐานของความรัก ความขัดแย้งในครอบครัวมักเกิดจากการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นผู้ที่ทุ่มเท เสียสละและหวังดีกับครอบครัวมากกว่าอีกฝ่ายเสมอ เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดเช่นนี้ ที่สุดแล้วมักหาทางออกของปัญหาไม่เจอ การสร้างครอบครัวบนพื้นฐานของความรัก หรือการให้ด้วยความเต็มใจ มีความเข้าใจและความปรารถนาดีต่อกันเสมอ จึงเป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดความขัดแย้งลงได้
4.สร้างบรรยากาศแห่งความสามัคคี การทะเลาะกันในบางครั้งนับเป็นเรื่องปกติของคนที่อยู่ใกล้ชิดกันจะเห็นไม่ตรงกันบ้างในบางเรื่อง แต่แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะกัน ให้ลองสร้างบรรยากาศแห่งความสามัคคี แน่นอนหากว่าทำคนเดียวคงไม่ได้ผล คุณพ่อคุณแม่ต่างก็ต้องร่วมมือกันใช้รอยยิ้มสร้างกำลังใจให้กัน สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดูแจ่มใสอยู่เสมอ อาจใช้เสียงเพลงช่วยผ่อนคลาย รวมทั้งหมุนเวียนทำกิจกรรมที่แต่ละคนชอบร่วมกัน ช่วยลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความไม่เข้าใจกันได้ดีขึ้น
ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ล้วนสร้างจากความรักและความผูกพันที่น่าชื่นชม แม้จะมีช่วงเวลาที่ต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคจนต้องทะเลาะกันบ้างในบางครั้ง ก็ขอให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยความรัก ความเข้าใจและความปรารถนาดีที่มีให้กัน ที่สำคัญอย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูกอีก เพราะทุกคนได้รู้แล้วว่า สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือลูกนั่นเอง