xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลเผย คนไทย 64% หนุนหักบัญชีเงินเดือน ดัดหลังเบี้ยวหนี้ กยศ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นิด้าโพลเผยผลสำรวจ “หนี้ กยศ.” 54% เห็นด้วย ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชอบ 62% หนุนหักบัญชีเงินเดือนอัตโนมัติดัดหลังคนไม่เบี้ยวหนี้ 14% ให้แบล็กลิสต์ธุรกรรมการเงิน 55% เชื่อ กยศ.ติดตามหนี้ได้ เหตุมีหลายช่องทางหลายระบบ 40% เสนอคัดกรองผู้กู้ยืมว่าจนจริง 11% ให้ยกเลิกผู้ค้ำประกันที่ไม่ใช่ญาติ

วันนี้ (5 ส.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง หนี้ “กยศ.” ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ? สำรวจระหว่างวันที่ 2-3 ส.ค. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวม 1,269 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กรณีไม่ยอมชำระหนี้ ซึ่งเมื่อถามถึงความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน ในกรณีที่มีผู้กู้ยืมเงิน “กยศ.” ไม่ชำระหนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.06 ระบุว่า ควรต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ค้ำยินยอมตามสัญญาที่กำหนดไว้ควรเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน รองลงมา ร้อยละ 43.58 ระบุว่า ไม่ควรต้องรับผิดชอบ เพราะ ผู้ค้ำไม่ได้รับประโยชน์จากการกู้เลยและมีส่วนเกี่ยวข้องแค่บางส่วนเท่านั้น ผู้กู้ยืมจึงควรรับผิดชอบทั้งหมด และร้อยละ 2.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ส่วนบทลงโทษของผู้กู้ยืมเงิน “กยศ.” ที่ไม่ชำระหนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.57 ระบุว่า หักหนี้จากบัญชีเงินเดือนโดยอัตโนมัติ รองลงมา ร้อยละ 31.84 ระบุว่า หักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ร้อยละ 17.26 ระบุว่า จับ/ปรับ และดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด ร้อยละ 14.42 ระบุว่า แบล็กลิสต์ธุรกรรมทางการเงิน ร้อยละ 9.30 ระบุว่า ยึดทรัพย์สิน และร้อยละ 2.13 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความเชื่อมั่นต่อ “กยศ.” ว่าจะสามารถติดตามการชำระหนี้กับผู้กู้ยืมได้เงินสำเร็จหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 8.59 ระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 55.40 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 27.19 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย และร้อยละ 3.62 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก-มากที่สุด ให้เหตุผลว่า มาตรการต่างๆ ในการติดตามทวงหนี้ของ กยศ. มีหลากหลายช่องทาง และมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้ในการทำงาน ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น-ไม่มีความเชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่า กยศ.ไม่มีมาตรการที่ดีพอในการติดตามการชำระหนี้และหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่างๆ ยังไม่ครอบคลุม ขณะที่บางส่วนระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ยังไม่เด็ดขาดพอ

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของระบบการติดตามการชำระหนี้ “กยศ.” ในปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 5.28 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมากที่สุด ร้อยละ 41.37 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก ร้อยละ 37.98 ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 9.46 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย และร้อยละ 5.91 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยผู้ที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก-มากที่สุด ได้ให้เหตุผลว่า มีระบบการติดตามการชำระหนี้ที่เข้มงวดและเด็ดขาดพอสมควร ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ-ไม่มีประสิทธิภาพเลย ให้เหตุผลว่า มีมาตรการจัดการที่ไม่เด็ดขาด และไม่ต่อเนื่องในการติดตามการชำระหนี้

ท้ายสุดเมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการให้กู้ยืมและการติดตามการชำระหนี้ของ “กยศ.” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.03 ระบุว่า คัดกรอง ผู้กู้ยืมอย่างละเอียดก่อนให้กู้ยืมเงินว่าต้องมีฐานะยากจนจริง รองลงมา ร้อยละ 37.59 ระบุว่า กำหนดผู้ค้ำประกันให้เป็นบิดา มารดา หรือ ญาติของผู้กู้ยืมเงิน ร้อยละ 30.34 ระบุว่า ติดตาม/ตรวจสอบสถานะประวัติผู้กู้เงิน “กยศ.” ตลอดเวลา ร้อยละ 13.00 ระบุว่า ออกกฎหมาย/บทลงโทษขั้นรุนแรง กับผู้ค้างชำระหนี้ “กยศ.” ร้อยละ 11.82 ระบุว่า ควบคุมจำนวนเงินกู้กับผู้กู้ยืมเงิน “กยศ.” ร้อยละ 11.35 ระบุว่า ยกเลิกการให้มีผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน “กยศ.” ที่มิใช่บุคคลในครอบครัว หรือ ญาติ ร้อยละ 0.55 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก มีงานรองรับกรณีที่ผู้กู้ไม่มีเงินชำระหนี้ หรือยากจนจริงๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรยกเลิกการให้กู้เงิน กยศ. ไปเลย และร้อยละ 5.99 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ



กำลังโหลดความคิดเห็น