กยศ.แจงชะลอยึดทรัพย์ “ครูวิภา” พร้อมเร่งติดตามลูกศิษย์ 17 รายที่เบี้ยวหนี้ จ่อประสานประกันสังคม กรมสรรพากร ค้นหาทำงานที่ไหน เล็งหักเงินเดือนใช้หนี้แทน เชื่อมีผู้ค้ำประกันแบบครูวิภาอีกมาก รับปัญหาตามหนี้ผู้กู้ไม่มีทรัพย์ ต้องมายึดทรัพย์ผู้ค้ำประกันแทน เล็งปรับเกณฑ์ผู้ค้ำประกันใหม่ ด้าน “ครูวิภา” ยังกังวลหากศิษย์ 17 รายไม่จ่ายก็ถูกยึดทรัพย์ซ้ำ ลั่นจะกู้เงินไถ่ทรัพย์คืนไม่ให้ขายทอดตลาด เผยศิษย์ 2 รายติดต่อเข้ามาแล้ว
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ครูวิภา บานเย็น ครูโรงเรียนแห่งหนึ่งจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ.จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกันว่า จากการตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่ามีจำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าวมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้วจำนวน 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วซึ่งกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป และถ้าหากครูวิภาต้องการไล่เบี้ยคืน ทาง กยศ.ก็พร้อมจัดหาทนายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องให้
นายชัยณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับอีก 17 คดีที่เหลือนั้น คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย หากรวมดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 3 แสนบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ก่อนหน้านี้ครูวิภาได้รับหมายศาลแจ้งยึดทรัพย์ ขณะนี้ได้ กยศ.ประสานกับกรมบังคับคดีชะลอการยึดทรัพย์เพื่อช่วยเหลือครูวิภาเบื้องต้น และจะเร่งติดตามสืบทรัพย์ทั้ง 17 รายผ่านทางสำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร ว่าทำงานอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่ง กยศ.มีอำนาจดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่สามรรถเข้าถึงข้อมูลผู้กู้ได้ และหากพบตัวจะประสานหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อหักเงินเดือนมาชำระหนี้ กยศ.ปลายปีนี้ ซึ่งกรณีทำงานในภาคเอกชนจะสามารถดำเนินการได้ภายในต้นปี 2562
นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่า กระบวนการกู้ยืมเงินนั้น กยศ.จะมีการปฐมนิเทศนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อให้ความรู้ว่าในการชำระหนี้ ต้องทำอะไร ถ้าไม่ชำระหนี้จะเกิดอะไร และเมื่อเรียนจบจะมีการปัจฉิมนิเทศอีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้ หลังเรียนจบจะมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี จึงจะเริ่มกระบวนการชำระหนี้ ซึ่งผู้กู้ 1 คนกู้เฉลี่ย 1 แสนบาท โดยกระบวนการติดตามหากผู้กู้ไม่ชำระ กองทุนจะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้ผู้กู้ จากนั้นกองทุนจะมีส่งจดหมายติดตามหนี้ค้างชำระให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน และมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือน มีการส่งข้อความ SMS และข้อความเสียง เพื่อแจ้งให้ชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้กู้ยืมไม่ได้รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ. (www.studentloan.or.th) และหากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชำระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดำเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้นกองทุนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน
“ขั้นตอนในการติดตามหนี้ กยศ.จะติดตามจากผู้กู้ก่อน แต่ที่เกิดปัญหาผู้ค้ำประกันต้องมารับผิดชอบมีหลายกรณี คือ ผู้กู้ยังไม่มีทรัพย์ ผู้กู้มีทรัพย์แต่ไม่จ่าย และไม่มีวินัยทางการเงิน นำเงินไปใช้อย่างอื่น นำไปซื้อโทรศัพท์ มอร์เตอไซค์มากกว่ามาใช้หนี้ จึงเกิดปัญหากับผู้ค่ำประกัน ขณะเดียวกัน การติดตามหนี้ก็พบปัญหาว่าผู้กู้ปิดเบอร์มือถือ และบางรายไม่อยู่ในถิ่นฐานเดิมทำให้ติดตามไม่ได้ ทั้งนี้ มีผู้ค้ำประกันให้นักเรียนหลายรายแบบครูวิภาจำนวนมาก คาดว่าน่าจะมีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ส่วนหนึ่งเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนด เพราะต้องการให้นักเรียนที่ยากจนได้เข้าถึงการกู้ยืมเงิน จำนวนคนค้ำและจำนวนเงิน แต่กรณีนี้ กยศ.ก็จะมาพิจารณาปรับแนวทางในอนาคตกำหนดบุคคลและวงเงินต่อไป” นายชัยณรงค์กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ขอฝากถึงผู้กู้ทุกคนและทั้ง 17 รายนี้ให้มีจิตสำนึกให้มาใช้หนี้ มาแบ่งเบาภาระหนี้ให้ครู และส่งโอกาสการศึกษาให้กับรุ่นน้องต่อไป
ด้าน น.ส.วิภา บานเย็น กล่าวว่า ที่ผ่านมา 4 รายที่ได้ชำระหนี้ไปแล้ว 92,000 บาทนั้น เพราะได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ ส่วน 17 รายดังกล่าวไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กยศ.มาก่อน มาทราบอีกทีก็ได้รับหมายศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์แล้ว ทั้งที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการของ กยศ.มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งหลังจากที่มีข่าวออกไปมีลูกศิษย์ติดต่อเข้ามา 2 ราย โทรศัพท์มาขอโทษที่ทำให้ครูเดือดร้อนและบอกว่าจะไปปิดหนี้ กยศ.ที่เหลืออยู่ และจะผ่อนชำระหนี้ที่ครูจ่ายแทนไปให้เดือนละ 5 พันบาท ซึ่งคำพูดทางโทรศัพท์ก็ไม่มีหลักประกัน ไม่มีหลักฐานยืนยัน ต้องรอดูว่าจะทำตามที่พูดหรือไม่
“ถึงแม้ว่า กยศ.จะชะลอการบังคับคดีแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่าคดีจะสิ้นสุด เพราะถ้าสืบทรัพย์ของเด็กมาไม่ได้ก็จะวนมาที่ตัวเองอยู่ดี หากถูกยึดทรัพย์จริงก็จะไปกู้เงินมานำทรัพย์ออกไม่ยอมให้ขายทอดตลาดอย่างเด็ดขาด และหากเป็นไปได้อยากให้การชำระหนี้ของเด็กจ่ายเป็นชื่อผู้ค้ำ เพราะเรารับภาระมาก่อนหน้านี้แล้ว ขอฝากถึงลูกศิษย์ที่ได้ดูอยู่ช่องทางไหนก็ตาม ทั้งคนที่ครูจ่ายหนี้แทนหรือยังไม่ได้จ่าย ด้วยความเป็นครูไม่เคยอยากทำร้ายลูกศิษย์ เราไม่อยากฟ้องเด็กเขาคือลูกศิษย์ แค่อยากให้มาคุยจะใช้หนี้คืนอย่างไร ซึ่งคงไม่พูดอะไรมากเพราะ คำว่า คนดี ครอบคลุมหมดทุกอย่างในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีคุณธรรมและความรับผิดชอบ” น.ส.วิภา กล่าว
นางเพ็ญรวี มาแสง โฆษกกรมบังคับคดี กล่าวว่า การติดตามหนี้ไม่ได้มีแค่การยึดทรัพย์เพียงวิธีการ เพราะก่อนจะถึงขั้นตอนนี้จะมีกระบวนการการไกล่เกลี่ย ซึ่งกรมบังคับคดีและ กยศ.ได้มีความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้เกิดการชำระหนี้ที่ลูกหนี้สามารถจ่ายได้