วิจัยพบ 13 ปี ชายแดนใต้เกิดความรุนแรงเกือบ 2 หมื่นครั้ง เสียชีวิตกว่า 7.6 พันคน บาดเจ็บ 1.3 หมื่นคน ขณะที่สุขภาพจิตพบ 40% มความสุขเท่าเดิม 32% มีความสุขมาก 27% ความสุขลดลง บ่งชี้คนในพื้นที่ยังรับมือได้ ฟื้นฟูจิตใจหลังวิกฤตได้
วันนี้ (1 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กล่าวในงานเสวนา “ความสุขจากการทำงานชายแดนใต้” ว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เผชิญกับความรุนแรงมานานกว่า 13 ปี เกิดเหตุการณ์เกือบ 2 หมื่นครั้ง เฉลี่ยอย่างน้อย 38 ครั้งต่อวัน มีคนเสียชีวิตกว่า 7,666 คน เฉลี่ยเสียชีวิต 1.5 คนต่อวัน บาดเจ็บรวม 13,115 คน เฉลี่ยบาดเจ็บ 2.5 คนต่อวัน ซึ่งจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน และเป็นประชาชนทั่วไปมากที่สุด ตามด้วย ทหาร ตำรวจ และผู้ก่อเหตุ ทั้งนี้ จากการศึกษางานวิจัยพบว่า งานวิจัยอย่างน้อย 2 ชิ้นยืนยันว่า ความรุนแรงในพื้นที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในพื้นที่ ดังนั้น ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 และกรมสุขภาพจิตจึงให้การดูแลกันมาอย่างต่อเนื่อง
พญ.เพชรดาว กล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ได้มีการวัดระดับความสุขของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2559 พบว่า ประชาชนร้อยละ 40.8 มีความสุขเท่าเดิม แม้ว่าในพื้นที่จะมีปัญหาเรื่องราคายาง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความสงบในพื้นที่ และปัญหายาเสพติด ซึ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิม ร้อยละ 32.80 มีความสุขมาก เพราะครอบครัวอบอุ่น มีความเข้าใจกันมากขึ้น มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และร้อยละ 27.12 มีความสุขลดลงเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูง ราคายางตกต่ำ ว่างงาน สินค้าราคาแพง หวาดระแวงเหตุการณ์ความไม่สงบ แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางอารมณ์ จิตใจที่สามารถเข้าสู่ภาวะปกติหลังเผชิญภาวะวิกฤต
“ความสำคัญของการที่คนในพื้นที่สามารถเผชิญเหตการณ์วิกฤตได้ ส่วนสำคัญการมีพลัง อึด ฮึด สู้ ซึ่งเป็นคำที่คุ้นชินกัน 1. อึดคือการมองวิกฤตเป็นโอกาส มองเชิงบวก คิดคุณค่าในตัวเอง 2. ฮึด พลังทางศาสนาเป็นสิ่งยึดเหยี่ยวทางจิตใจ รวมถึงกำลังใจจากคนรอบข้าง 3.สู้.คือการเชื่อในความสามารถของตัวเอง ต่อสู้อุปสรรคและมีวิธีการจัดการกับปัญหา ปรับเป้าหมายชีวิตไปตามสภาพแวดล้อม เรามีเคสชาวบ้านพิการเดินไม่ได้จากเหตุการณ์ความรุนแรง แต่เขาสามารถปรับเป้าหมาย และทำกรงนกขายจนเป็นที่นิยม และมีความสุขในชีวิตได้ นี่คือ ความสำคัญ และจากข้อมูลหลังเผชิญภาวะวิกฤตในพื้นที่มานานกว่า 13 ปี ยังไม่พบการฆ่าตัวตายของคนในพื้นที่ที่มาจากการที่ต้องเผชิญภาวะวิกฤต” ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กล่าว และว่า สำหรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนนี้ก็ขอให้ประชาชนอย่าท้อแท้ ทุกคนมีพลังของการต่อสู้อยู่ ดังนั้น ขอให้อึด ฮึด สู้ ที่สำคัญเดี๋ยวมันก็ผ่านไป