ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ราคายางกลับมาตกต่ำอีกครั้ง ทำให้ชาวสวนยางบ้านด่านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา ไม่ต้องการเข้าสู่วงจรเดิมๆ จึงคิดนำน้ำยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้อื่นแทนการขายน้ำยาง ขี้ยาง ยางแผ่น ที่ราคาผันผวน รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงเข้ารับคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปน้ำยางพารา จนสามารถผลิตเป็นถุงมือยางได้เป็นผลสำเร็จ
พื้นที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซียอย่าง อ.นาทวี จ.สงขลา ที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางกว่า 1,000 ครัวเรือน เจอวิกฤตราคาน้ำยางตกต่ำ ทำให้ต้องหาทางออกแปรรูปเป็นถุงมือยางพาราแท้ 100% โดย “สุดารัตน์ พ่วงพี” ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางพาราด่านประกอบ ย้อนที่มาของการผลิตถุงมือยางพาราว่า เป็นธรรมดาของชาวสวนยางที่ไม่ต้องการทนต่อราคายางที่ผันผวนและตกต่ำ มองเห็นอนาคตว่าการขายแต่น้ำยาง ขี้ยาง และยางแผ่น จะไม่สามารถมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้ และยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ยิ่งทำให้ชาวสวนยางตกที่นั่งลำบากมากขึ้น
ทางออกที่ดีที่สุดคือการ “แปรรูป” หวังเป็นรายได้อีกทางหนึ่งแทนการขายแต่ยางดิบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเธอจึงวิ่งเข้าหาเทคโนโลยีที่คิดว่าจะช่วยพลิกวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ได้ พุ่งตรงไปที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้ รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา เป็นที่ปรึกษาพร้อมแนะนำให้ผลิตถุงมือยาง ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและทำได้ยาก
“หลังจากที่เราได้เข้าไปขอคำปรึกษาด้านการแปรรูปยางเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ อ.อาซีซันก็แนะนำให้ทำถุงมือยางพาราเนื่องจากยังมีผู้ผลิตน้อย และทำได้ไม่ยาก ซึ่งเมื่อชาวบ้านได้ฟังก็ยังมีความกังวลในการผลิต เพราะที่ผ่านมาคิดว่าการผลิตถุงมือยางต้องผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องจักรขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง แต่เมื่ออาจารย์ได้อธิบายขั้นตอนกรรมวิธีที่เข้าใจง่าย ชาวบ้านทุกคนก็พร้อมที่จะสู้และลองทำ จนได้ถุงมือยางพาราเทียบเท่าแบรนด์ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด”
ด้วยความที่การผลิตของชาวบ้านเป็นการรวมตัวก่อตั้งขึ้นเป็น “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางพาราด่านประกอบ” จึงชูความต่างด้วยการเป็น 'ถุงมือยางแฮนด์เมด' สามารถสั่งผลิตได้ในปริมาณน้อย และยังระบุสเปกได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความหนาบาง สีสัน ตามการนำไปใช้งาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าและเชื่อว่าจะนำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป
ส่วนกระบวนการผลิตถุงมือยางพาราถือว่าไม่ค่อยยุ่งยากนักหากมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างอาจารย์อาซีซัน โดยเริ่มแรกต้องนำน้ำยางดิบมาทำเป็นน้ำยางข้น (Latex) 60% มาผสมสารเคมี 6 ตัว ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ทั้งหมดไม่เป็นอันตราย ทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำแม่พิมพ์ (โมลด์) รูปถุงมือมาจุ่มลงไปประมาณ 2 นาที นำไปผึ่งลม และเข้าตู้อบความร้อน 120 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ก็จะได้ถุงมือยางที่มีความหนามาตรฐาน แต่หากต้องการความหนาที่มากขึ้นก็จุ่มน้ำยางให้นานขึ้นเท่านั้น
จากราคาน้ำยางในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 43 บาท และเคยลงมาต่ำสุดอยู่ที่ 24 บาท แต่เมื่อนำน้ำยางมาแปรรูปเป็นถุงมือยาง ใช้น้ำยางเพียงขีดกว่าต่อคู่ กลับขายได้สูงถึงคู่ละ 35 บาท ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว โดยกำลังการผลิตอยู่ที่ 3 ชั่วโมง ผลิตได้ 70 คู่ ซึ่งยังมีวัตถุดิบเพียงพอให้สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก ขอเพียงมีตลาดรองรับที่ชัดเจนก็คาดว่าจะทำให้ชาวสวนยางเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นได้
ติดต่อวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางพาราด่านประกอบ
Line ID : Sudarat.Pee
โทร. 08-6405-3299, 0-7459-4578
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *