พิษณุโลก - สหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 2 ภาคเหนือ เดินหน้ายื่นหนังสือคัดค้านรัฐบาลเตรียมโอนย้ายผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 5 แสนรายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ไปเป็นลูกค้าไฟฟ้าของบริษัทเอกชนแทน
วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.พิษณุโลก นายสรรพงศ์ สิงหเดช ตัวแทนสหภาพแรงงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 2 ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก เดินทางยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผ่านนายอธิปไตย ไกรราช ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นหนังสือคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการที่ รัฐบาลจะโอนย้ายผู้ใช้'ไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส) จำนวน 500,000 กว่ารายไปเป็นลูกค้าซื้อไฟฟ้าของบริษัทเอกชน พร้อมแนบรายชื่อผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินการในครั้งนี้ถึงนายกรัฐมนตรี
นายสรรพงศ์กล่าวว่า กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการโอนย้ายผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส) จำนวน 500,000 กว่าราย ไปอยู่กับบริษัทเอกชน RPS แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเดิมที่ขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามาก่อนนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประกอบกิจการเป็นไปตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 วัตถุประสงค์เพื่อให้บริการประชาชนในด้านพลังงานไฟฟ้าในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน และให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั้งประเทศอย่างเท่าเทียม
อีกทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังมีสวัสดิการ ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย, ไฟสาธารณะ, ไฟทางหลวง, ส่วนลดค่าไฟฟ้าให้ทหารผ่านศึก, ไฟฟ้าเพื่อการเกษตร และโครงการขยายเขตให้ทุกครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ให้มีใช้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีผู้ใช้ไฟที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับผิดขอบถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครับซื้อกระแสไฟฟ้าจากภาคเอกชนทั่วไปที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์, โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงไฟฟ้าชีวภาพ, พลังงานลม หรือพลังงานทดแทนอื่นๆ ในอัตราหน่วยละ 5-8 บาท แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนำมาจำหน่ายให้ประชาชนในอัตราเดียวกันทั่วประเทศในราคาประมาณหน่วยละ 3.5 บาท
หากรัฐบาลจะนำผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด จำนวน 500,000 กว่ารายไปอยู่ภายใต้ การบริหารจัดการของบริษัทเอกชนซึ่งมุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และการจัดตั้งบริษัท RPS ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 โดยรัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐ เป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้ และการจัดตั้งบริษัท RPS ไม่โปร่งใส เนื่องจากเป็นการกระทำทางลับ และเร่งรีบ โดยมีแผนการให้แล้วเสร็จในรัฐบาล คสช. และไม่มีการสอบถามประชาชน หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียถึงผลกระทบ ข้อดี-ข้อเสียที่จะตามมา
อันอาจจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่มีความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินการของบริษัท RPS และเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ยังคงใช้บริการจากการ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค