xs
xsm
sm
md
lg

พยากรณ์โรคประจำสัปดาห์ 29 ก.ค.- 4 ส.ค.ระวัง “โรคหัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคเผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ วันที่ 29 ก.ค.- 4 ส.ค. ระวัง “โรคหัด” หลังพบป่วยแล้ว 1.3 พันราย วัยรุ่นแนวโน้มป่วยสูงสุด ห่วงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นตาย ล่าสุด พบป่วยเป็นกลุ่มก้อน 5 เหตุการณ์ จำนวนหนึ่งเป็นบุคลากร รพ. และค่ายฝึก รด. หวั่นป่วยเพิ่มขึ้น

กรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ฉบับที่ 170 ประจำสัปดาห์ที่ 30 (วันที่ 29 ก.ค.-4 ส.ค. 61) ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-19 กรกฎาคม 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 1,316 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 26.98) และพบที่ภาคกลางสูงสุด ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อนรวม 5 เหตุการณ์ โดยพบผู้ป่วยเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี 5 ราย โรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี 12 ราย นอกนั้นผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนอีกจำนวนหนึ่งเป็นในบุคลากรทางการแพทย์ และในค่ายฝึก รด.”

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่า จะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น จึงควรเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคหัดอย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น และทำงานกันเป็นกลุ่มก้อน พบได้ทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยมากขึ้นในกลุ่มอายุวัยผู้ใหญ่ โรคหัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบว่ามีอัตราการติดต่อสูงถึงร้อยละ 90 ซึ่งสูงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่

อาการที่พบบ่อยคือไข้ออกผื่น โดยมักมีอาการไข้ประมาณ 3 วัน แล้วจึงเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว อาจมีอาการคัน โดยมักเริ่มขึ้นจากศีรษะ ก่อนที่จะขยายลงมา ที่ใบหน้า ลำตัว และแขนขา ตามลำดับ ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไข้และผื่นจะค่อยๆ ลดลง และหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ได้แก่ ท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ อาการชัก ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งแบบที่มีไข้และไม่มีไข้ ไข้สมองอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า เมื่อเป็นโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เด็กและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโรคหัด ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน สอบถามข้อมูลโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


กำลังโหลดความคิดเห็น