เชียงราย - คณะแพทย์โรงพยาบาลเชียงรายฯ เปิดแถลงอาการ 13 หมูป่าอะคาเดมี ยืนยันแข็งแรงดีทุกคน 2 กลุ่มแรกรวม 8 คนตรวจแล้วไร้โรคอุบัติใหม่-ให้ญาติเยี่ยมห่าง 2 เมตร ขณะที่นักเตะ 4 คนหลังและโค้ชเอกอุณหภูมิร่างกายดีสุด ทั้งหมดมาถึงโรงพยาบาลรู้สึกตัวดี ไม่อยู่ในอาการสลบ
วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 1 แถลงข่าวถึงการดูแลรักษาพยาบาลนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต ที่ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย อย่างปลอดภัยแล้ว ว่า ทีมหมูป่าทยอยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 8-10 ก.ค. 2561 ครบทั้ง 13 คนเรียบร้อยแล้ว โดยการดูแลรักษาขอแบ่งเป็นกลุ่ม คือ ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน อายุ 14-16 ปี เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2561 อาการเช้าวันที่ 11 ก.ค. ทุกคนสดชื่นและสบายดี รับประทานอาหารปกติได้แล้ว เป็นข้าวทั่วๆ ไปที่เราจัดไว้ให้ตามพลังงานที่ร่างกายของผู้ป่วยควรได้รับ 1,800-2,000 กิโลแคลอรี สภาพไม่มีไข้ ส่วน 2 คนที่สงสัยเรื่องปอดติดเชื้อในปอดผลก็ดีขึ้น คนที่มีแผลก็แผลแห้งดี ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้เดินไปห้องน้ำเองได้ โดยผลเอกซเรย์ปอดติดตามดูดีขึ้นกว่าเดิม ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 จำนวน 4 คน อายุ 12-14 ปี เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. ทุกคนสบายดี ไม่พบมีการติดเชื้อใดที่รุนแรง เพียงแต่ผลเลือดสนับสนุนว่ามีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น จึงให้ยาแก่ทุกคนแล้ว เช้านี้ให้รับประทานอาหารอ่อน คิดว่าช่วงเย็นวันที่ 11 ก.ค.จะสามารถรับประทานอาหารปกติได้ สายตาสามารถมองสู้แสงได้ดี ผลตรวจเอกซเรย์ปอดปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และให้เริ่มมีกิจวัตรประจำวันได้ โดยทั้ง 8 คนสามารถคุยกันได้ แต่อยู่ในเตียงของตัวเอง ยังมาคุยเล่นกันไม่ได้
นพ.ธงชัยกล่าวว่า กลุ่มที่ 3 มี 5 คน อายุ 11-25 ปี โดยทั้ง 5 คนที่มาถึงโรงพยาบาลไม่มีอาการอุณหภูมิต่ำ เพราะดูแลตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาลได้ดี ได้รับสัญญาณชีพ ความดันโลหิตดีทั้งหมด ส่วนผลเอกซเรย์ปอด พบปอดอักเสบเล็กน้อย 1 คน ทุกคนได้รับการรักษาเหมือนกับ 2 กลุ่มแรก คือ ให้สารน้ำ ให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก รับวิตามินบี 1 และยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ วันนี้วางแผนให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินเรื่องสายตา การมองเห็น จิตใจ โภชนาการ และส่งตรวจหาเชื้ออุบัติใหม่
“ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ส่งไป ต้องขอบคุณการบินไทย และการท่าอากาศยานฯ ที่บริการให้ทำได้รวดเร็วขึ้น ผลในกลุ่มแรกตรวจไม่พบโรคติดต่อประจำในท้องถิ่นที่เป็นอันตราย ทั้งโรคเมลิออยโดซิส โรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู โรคสครัปไทฟัส และโรคติดเชื้อนิปาห์ จึงสามารถให้พ่อแม่เข้าไปเยี่ยมได้แล้ว โดยสวมชุดป้องกันและไปยืนคุยกับน้องๆ ห่างกัน 2 เมตร ตามมาตรฐานการควบคุมโรค โดยได้คุยกันเรียบร้อย ส่วนกลุ่มที่สองผลก็เพิ่งออกมาว่าไม่พบเช่นกัน วันนี้จะได้เข้าไปเยี่ยมเช่นกัน” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ถ้ำหลวง สธ. และผู้เชี่ยวชาญ โดยกรมควบคุมโรคและโรงเรียนแพทย์ แนะนำให้มีบัตรเฝ้าระวังโรคแจกให้ผู้มาปฏิบัติงาน พร้อมคำแนะนำในการสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดหัว อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก หลังกลับไป 2 สัปดาห์ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และเอาการ์ดดังกล่าวให้แพทย์ดูว่าเราสงสัยไข้อะไรบ้าง สำหรับผลการดำเนินงานการตั้งโรงพยาบาลสนามที่หน้าถ้ำหลวง ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด ก็ให้การดูแลรักษา ส่วนการเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตก็เข้าปฏิบัติการตั้งแต่ต้น ดูแลทั้ง 13 ครอบครัว ในการเฝ้าระวัง ให้ลดคลายกังวล ความเครียด เตรียมการญาติๆ ทั้งหมด ทำให้การดำเนินการช่วงหลังสะดวก โดยจะมีการตั้งจุดหน้าถ้ำอีก 2 วัน เพื่อดูแลผู้ที่เก็บงานบริเวณหน้าถ้ำ หากมีอาการอะไรก็สามารถรับบริการที่ใกล้ได้ หากดำเนินการไม่ได้จะส่งต่อ รพ.แม่สาย หรือ รพ.เชียงรายฯ
ผู้สื่อข่าวถามถึงการดูแล พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน หรือหมอภาคย์ และหน่วยซีลที่เข้าช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต นพ.ธงชัยกล่าวว่า สำหรับ พ.ท.นพ.ภาคย์ และหน่วยซีลนั้น ต้นสังกัดจะรับไปดูแลรักษาเอง เหมือนที่เราดูแลน้องๆ ทั้ง 13 คน
เมื่อถามว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้เมื่อไร นพ.ธงชัยกล่าวว่า หลายคนยังคงให้ยาอยู่ เนื่องจากช่วงแรกเดิมทุกคนมีลักษณะติดเชื้อในร่างกาย คือเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง จึงให้ยาปฏิชีวนะไว้ก่อน ขณะที่ผลเลือดที่ส่งตรวจไป ในแง่การเพาะเชื้อก็เริ่มทยอยส่งผลกลับมา ซึ่งไม่พบเชื้อใดในเลือด อาการน้องไม่มีไข้ กินอาหารได้ดี ก็อาจหยุดยาเร็วขึ้น ดูเป็นรายๆ เป็นวันๆ ไป ซึ่งเราดูอาการเป็นหลัก แต่ดูโดยรวมแล้วอาการดีมาก ส่วนการเฝ้าระวังเชื้อก็คงใช้เวลาประมาณ 7 วัน อย่างเด็กที่มีปอดอักเสบก็คงต้องได้ยาอย่างน้อย 7 วัน หากต้องการเฝ้าระวังคงต้องรอผลอีกเล็กน้อยที่จะกลับมา แต่หากต้องการการเฝ้าระวังที่มากกว่าก็อาจต้องเป็น 14 วัน คือดูแลในโรงพยาบาล 7 วัน ดูแลที่บ้านต่อ 7 วัน
เมื่อถามถึงเรื่องของการให้ยาสลบก่อนออกมาจากถ้ำ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เราดูแลในส่วนของการรักษาพยาบาล ซึ่งในส่วนของการดำเนินการในถ้ำเราไม่มีข้อมูล แต่น้องๆ ที่มาถึงโรงพยาบาลทั้งหมดรู้สึกตัวดี สามารถโต้ตอบกับทีมแพทย์ได้ ส่วนเรื่องสิทธิการรักษาไม่ต้องเป็นห่วง เพราะหากเป็นคนไทยมีบัตรประชาชนก็มีสิทธิรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพ
เมื่อถามถึงน้ำหนักตัวของเด็ก นพ.ธงชัยกล่าวว่า เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลน้ำหนักตัวของเด็กก่อนเข้าไปในถ้ำ แต่มีข้อมูลโอพีดีการ์ด ซึ่งจากการประมาณคาดว่าน้ำหนักน่าจะลดลงไปเฉลี่ย 2 กิโลกรัม แต่ที่ทั้งหมดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 9 วันก็เนื่องจากอยู่กันเป็นทีม มีการให้กำลังใจกัน และมีน้ำภายในถ้ำ ซึ่งโค้ชสามารถดูแลตรงนี้ได้ดีมาก จึงทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และไม่เครียดมาก