xs
xsm
sm
md
lg

เด็กเล็กป่วย “โรคหัด” อื้อ ขาดวิตามินเอทำอาการรุนแรง แนะฉีดวัคซีนป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เผย เด็กเล็กป่วย “โรคหัด” กว่า 860 ราย ชี้ติดต่อได้ง่ายผ่านไอ จาม พูดระยะใกล้ชิด เตือนขาดวิตามินเอส่งผลอาการรุนแรงมาก พ่วงมีปอดอักเสบอาจถึงขั้นตายได้ แนะวิธีป้องกัน

วันนี้ (1 ธ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นที่พบได้ในทุกวัยแต่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1 - 6 ปี สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 23 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยโรคหัด 1,548 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี 869 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.1 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต และ กรุงเทพมหานคร ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้

นพ.เจษฎา กล่าวว่า โรคหัดมีระยะฟักตัวประมาณ 8 - 12 วัน หลังจากนั้น จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัวและจางหายไปภายในเวลาประมาณ 14 วัน ผู้ป่วยโรคหัดอาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบและภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดจะมีความรุนแรงมาก และถ้ามีปอดอักเสบร่วมด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาโรคหัด หากมีไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ให้ยาแก้ไอที่เป็นยาขับเสมหะได้เป็นครั้งคราว โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ และให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ให้วิตามินเสริมโดยเฉพาะวิตามินเอ นอกจากนี้ การป้องกันโรคหัด ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน

“กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้ารณรงค์กำจัดโรคหัดให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี 2563 ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก ปัจจุบันแม้ว่าอัตราป่วยโรคหัดในประเทศไทยจะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งรัดดำเนินการให้วัคซีนแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายและผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยปัจจุบันกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็กรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9 - 12 เดือน ครั้งที่สองอายุ 2 ปี 6 เดือน” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงพบการระบาดโรคหัดเป็นระยะ ซึ่งประชาชนสามารถช่วยให้โครงการกำจัดโรคหัดสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือภาครัฐปฏิบัติดังนี้ 1. พาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามกำหนดนัดหมายให้ครบถ้วนทุกครั้ง 2. เก็บรักษาสมุดอนามัยแม่และเด็ก (สมุดสีชมพู) ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับตัวเด็กในการตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนเมื่อเข้าเรียน 3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยและหากสงสัยว่าป่วยด้วยโรคหัดควรไปพบแพทย์และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น