xs
xsm
sm
md
lg

พบ “กระบือ” มุกดาหารป่วยตายอื้อกว่า 10 ตัว จ่อประกาศเขตควบคุมโรคระบาดทั้งจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มุกดาหาร - พบกระบือป่วยปอดอักเสบเฉียบพลันตายอื้อกว่า 10 ตัว ปศุสัตว์จังหวัดส่ง จนท.เร่งตรวจสอบควบคุมป้องกันโรค ห้ามรับประทานหรือเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาด พร้อมส่งซากสัตว์พิสูจน์สาเหตุของการตายจากโรคที่แท้จริง ก่อนประกาศเป็นเขตควบคุมการระบาดของโรคสัตว์ทั้งจังหวัด คาดเป็นโรคคอบวม

วันนี้ (17 ก.ค.) นายชูยศ เชาว์ศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดมุกดาหารได้พบกระบือป่วยตายในพื้นที่หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 11 บ้านหนองหอยป่าหวาย ต.บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ (17 ก.ค.) มีกระบือตายแล้วจำนวน 12 ตัว จากการส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร เข้าควบคุมป้องกันโรค เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากปอดอักเสบเฉียบพลันจากลักษณะอาการสัตว์มีไข้สูง ไม่กินอาหาร ท้องอึด และคอบวม

ส่วนสาเหตุของการตายจากโรคที่แท้จริงอยู่ระหว่างรอผลการตรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น

สำหรับการป้องกันมิให้มีการระบาดของโรคไปยังพื้นที่อื่นนั้น นอกจากส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุม ป้องกันโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปาก เท้า คอบวมในกระบือ พื้นที่ที่เกิดโรคและบริเวณหมู่บ้านข้างเคียงยังได้ขอความร่วมมือเกษตรกรฝังกลบ ห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือซากสัตว์ออกนอกพื้นที่ หรือนำไปรับประทาน

และหากผลการตรวจซากสัตว์ที่ป่วยตายเป็นโรคคอบวมจะได้มีการประกาศเป็นเขตพื้นที่โรคระบาดทั้งจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการทำงานควบคุม ป้องกันโรคให้ได้ผลอย่างจริงจัง และไม่ให้มีการแพร่ระบาดเป็นบริเวณกว้าง

นายชูยศกล่าวว่า โรคคอบวมนี้เป็นโรคระบาดรุนแรงในกระบือ แต่จะมีความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่น เช่น โค สุกร ม้า อูฐ กวาง และช้าง โรคนี้ไม่เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียพาสจูเรลลา มัลโตซิดา (Pastuerella multocida) อาการสำคัญของโรคคือ สัตว์จะหายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอหรือหน้าบวมแข็ง ไข้สูง หายใจลำบาก อ้าปากหายใจและน้ำลายไหลมาก

การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นได้ง่ายในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้นฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป ในสภาวะความเครียดเช่นนี้ สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อ (Carrier) จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่เข้าไปก็จะป่วยเป็นโรคนี้ และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไป

เชื้อนี้จะมีชีวิตอยู่ในแปลงหญ้าได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะจะอยู่ได้นานถึง 1 เดือน กระบือที่ได้รับเชื้อแบบเฉียบพลันมากจะตายภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนแบบไม่เฉียบพลันสัตว์จะตายภายใน 2-3 วัน รักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะและรักษาตามอาการสัตว์ป่วย ซึ่งให้เลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่มีความไวต่อเชื้อโรคที่ได้จากการทดสอบความไวยาจากการเพาะเชื้อตัวอย่างที่เก็บจากอวัยวะสัตว์ที่ตายในการระบาดแต่ละครั้ง

สำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคนั้นมีดังนี้ 1. เมื่อพบสัตว์ป่วยหรือตาย ให้เกษตรกรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำอำเภอเพื่อดำเนินการรักษาสัตว์ที่ป่วย และควบคุมการระบาดของโรค

2. กักแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูงทันทีห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่อื่น และไม่ควรปล่อยลงทุ่งนา

3. หากพบสัตว์ตาย ห้ามนำไปบริโภค และห้ามชำแหละหรือขายซาก ให้ฝังหรือเผาซาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

4. ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์หรือผู้ใดเคลื่อนย้ายโค กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าวออกนอกพื้นที่ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 5. ดำเนินการฉีดวัคซีนโค-กระบือทุกตัวในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค





กำลังโหลดความคิดเห็น