จิตแพทย์เด็กยัน พ่อแม่สั่งลูก “Time Out” แยกไปสงบสติอารมณ์ ไม่ใช่การลงโทษ แต่ช่วยเด็กควบคุมจัดการอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น แนะลูกจัดการตนเองได้ดี ควรชมเชย ชี้ Time Out จะไม่ได้ผล หากพ่อแม่ไม่เคยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พฤติกรรมเด็กในแต่ละช่วงวัย มีสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม การขอเวลานอก แยกลูกออกมา หรือ Time out ไม่ใช่การลงโทษเด็ก แต่เป็นการสอนและฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง ยิ่งเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กมากเท่านั้น และเมื่อลูกทำได้ พ่อแม่ควรชื่นชมลูกเมื่อลูกจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดี
“Time out จริงๆ แล้วไม่ใช่การทำโทษ แต่ควรเรียกว่าเป็นการปรับพฤติกรรม คือ เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ผู้ใหญ่ห้ามแล้ว เบี่ยงเบนความสนใจแล้ว ก็ยังทำอยู่ ก็อาจใช้การ Time out คือ แยกเด็กออกจากสถานการณ์นั้นๆ ไปสงบสติอารมณ์ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง เมื่อก่อนนี้อาจเคยได้ยินมาว่าระยะเวลา Time out แต่ละครั้ง คือ เท่ากับอายุเด็ก เช่น 2 ขวบก็ 2 นาที 5 ขวบ ก็ 5 นาที แต่งานวิจัยจากต่างประเทศล่าสุดพบว่า วิธีนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะการ Time out ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการปรับพฤติกรรมให้เด็กสงบตัวเอง ดังนั้น หากเด็กๆ สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองให้สงบลงได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็ควรจะออกจากการ Time out และกล่าวชมลูกที่จัดการอารมณ์ตัวเองได้สำเร็จด้วย” นพ.ปานเนตร กล่าว
ผศ.(พิเศษ) พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า Time out จะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อพ่อแม่มีการ Time in กับลูกอย่างสม่ำเสมอ คือ การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเมื่อลูกทำดี หมั่นสังเกตเห็นสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ ไม่ใช่เห็นแต่สิ่งผิด เอาแต่ตำหนิและสั่งให้ลูกไป Time out เพราะหากเป็นเช่นนี้ ลูกก็จะยิ่งทำแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะทำแล้วพ่อแม่สนใจ ถึงแม้จะเป็นคำตำหนิ แต่ลูกก็จะรู้สึกว่าเรียกร้องความสนใจได้สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง สำหรับการใช้วิธี Time out กับเด็ก อายุ 2-3 ปี ควรเลือกใช้คำสั่งที่สั้นกระชับเข้าใจง่าย เช่น “หยุด ไปนั่งพัก ไม่ตีน้อง น้องเจ็บ” การอธิบายเหตุผลยาวๆ กับเด็กวัยนี้อาจไม่ได้ผลนัก เมื่อลูกนั่งพักสงบลงในระยะเวลาที่กำหนดได้แล้ว ควรชวนลูกกลับมาทำกิจกรรมต่อไปได้ตามปกติ
ผศ. (พิเศษ) พญ.ปราณี กล่าวว่า สำหรับหนูน้อยวัย 4-5 ปีขึ้นไป นอกจากการใช้ Time out พ่อแม่อาจลองใช้วิธี คุยกับลูกเพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองสิ่งที่ทำ เช่น เมื่อลูกผลักน้องล้มลง อาจจะเรียกลูกมาแล้วถามว่า กฎของการเล่นกันคืออะไร มีวิธีอื่นไหมที่ทำได้โดยไม่ต้องผลักน้อง วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกคิดว่า แทนที่จะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เขายังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ สายสัมพันธ์ที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยให้ลูกๆ ยอมรับและเชื่อตามคำสอนของเราได้ ดังนั้นแม้จะ Time out กี่ร้อยครั้ง แต่หากพ่อแม่ไม่เคย Time in หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเลย การปรับพฤติกรรมก็ยากที่จะสำเร็จได้