xs
xsm
sm
md
lg

เปิดค่ายรู้รอด ปลอดภัย ไม่ตายจากเจ็บป่วยฉุกเฉิน รองรับสังคมสูงวัยสุขภาพดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉินปีละ 25 ล้านราย สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ผนึก พม.- ศธ.- สสส. เปิดค่ายรู้รอดปลอดภัย ชูแนวคิด “เจ็บป่วย มีโรคคุมได้ แก้ไขได้ทัน” เตรียมบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ด้านอดีต ขรก.ครู เผยเคล็ดลับอายุยืน 100 ปี สุขภาพดี ไม่ต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง

วันนี้ (18 ก.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นางสุภัชชา สุทธิพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานงานเวทีประชุมวิชาการ การขับเคลื่อนและพัฒนาสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีโรคคุมได้แก้ไขได้ทัน” ตามโครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กระทรวง พม. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 20 ภาคีเครือข่ายร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งนี้ ในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการให้คำแนะนำเทคนิคการควบคุมโรคและวิธีป้องกันแก้ไข พร้อมฐานสาธิตตัวอย่างการสอนทักษะ “ค่ายรู้รอด ปลอดภัย”

นางสุภัชชา กล่าวว่า โครงการต่างๆ ของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน สอดคล้องกับภารกิจสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จากสถิติปี 2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 8 ล้านคน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณกว่า 2 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยติดเตียงร้อยละ 1.5 คาดว่า อีก 13 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือ จะมีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 28 ดังนั้น พม.มีความพร้อมขับเคลื่อนพัฒนา มาตรการ กลไก นวัตกรรม และบูรณาการ อีกทั้งสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน ร่วมมือกันเพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่ดีมีสุข เข้าถึงสวัสดิการทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุของไทยจัดอยู่ในอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง แม้วัฒนธรรมจะอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ลูกหลานไม่มีเวลาดูแลสะท้อนจากสถิติผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาเฉลี่ยปีละ 25 ล้านราย ในจำนวนนี้มีทั้งเสียชีวิตและพิการ ดังนั้น สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย จึงมุ่งขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ รวมทั้งการเสียชีวิต และความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีทักษะเอาตัวรอดหากป่วยฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทั้งนี้ หากปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง และจุดเสี่ยงในบ้านก็จะช่วยลดผู้ป่วยฉุกเฉินได้เช่นกัน

“การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ต้องหันมาดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี เพื่ออนาคตจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุยืนอย่างมีคุณภาพที่สำคัญจะไม่เป็นภาระลูกหลานและประเทศชาติทั้งนี้ผลการดำเนินงานทั้งหมดทางสมาคมฯจะผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศต่อไป” ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าว

นายสว่าง พรหมจันทร์ (อ.ส่วง) อดีตข้าราชการครู อายุ 98 ปี กล่าวถึงเคล็ดลับที่ทำให้สุขภาพดีมีอายุยืนว่า ตนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่และไม่เครียด ที่สำคัญ เวลาว่างหรือวันหยุดจะเข้าไปทำงานในสวน เพราะเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง พออายุ 80 ปี เห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นผู้ป่วยติดเตียง ตนจึงต้องหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและเนื้อปลา ต่อมาไม่นานได้ย้ายมาอยู่กับบุตรสาว จึงเปลี่ยนวิธีออกกำลังกายด้วยการวิ่งที่สวนสาธารณะในตอนเช้าแทนการทำสวน และใช้เวลาช่วงบ่ายในการพักผ่อน ส่วนตอนเย็นจะออกไปเดินสลับวิ่งอีกครั้ง เมื่อมีการแข่งขันวิ่งมินิมาราทอน ตนก็จะลงแข่งด้วย เพราะรักในการวิ่งอย่างมาก

“ยิ่งออกกำลังกาย ร่างกายยิ่งแข็งแรง คนสูงอายุต้องหาอะไรทำ เพราะจะเหงาและไม่ชอบอยู่คนเดียว จะทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรม ผมเป็นคนที่อารมณ์ดีมีลูกหลานดูแลใกล้ชิด วันหยุดยาวก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนวันพิเศษจะมารวมตัวกันทำกับข้าวกินกันที่บ้านนี้คือสิ่งที่ทำให้มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี และไม่หวงหากจะนำเคล็ดลับของผมไปทำตาม เพราะจะส่งผลให้มีอายุยืนแน่นอน ทั้งนี้อยากฝากว่าหากใครมีผู้สูงอายุในบ้าน ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” นายสว่าง กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น