xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ออกคำแนะนำ “สื่อ” สัมภาษณ์ 13 ชีวิต ขอคำถามเชิงบวก “ดร.วรัชญ์” แนะคำถามที่ควรถามและหลีกเลี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิต ร่วมสมาคมจิตแพทย์ฯ ออกคำแนะนำ “สื่อ” การสัมภาษณ์ 13 ชีวิตติดถ้ำ ผู้ประสบภัยต่างๆ ไม่ให้เกิดการซ้ำเติมความเครียด อารมณ์ลบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอใช้คำถามเชิงบวก เพื่อร่วมฟื้นฟูสภาพจิตใจได้เร็วและดีขึ้น ไม่ควรใช้คำถามจี้อารมณ์ความรู้สึกขณะเผชิญภัย สอดคล้องอาจารย์สื่อสารมวลชน แนะคำถามที่ควรถามและไม่ควรถาม

วันนี้ (4 ก.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังจากทั้ง 13 คน ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยังอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจตามแผนที่ทุกฝ่ายได้เตรียมการรองรับไว้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีความเป็นห่วงในเรื่องความสนใจในการติดตามข่าว ตลอดจนการทำข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาพจิตใจของเด็กได้ กรมฯ จึงร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำคำแนะนำแนวทางการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยของสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ (retraumatization) ของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวก้ามข้ามวิกฤตครั้งนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวโดยเร็ว และกลับสู่โรงเรียนและเล่นกีฬาได้ตามปกติ

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยหลังจากนี้ แนะนำให้ยึดแนวทาง 2 ประการ คือ 1. ควรทำหลังจากที่ผู้ประสบภัยได้พักและได้รับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัว จนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ก่อน 2. ในการสัมภาษณ์ควรมุ่งไปที่มุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกัน ให้กำลังใจกันในกลุ่ม วิธีการสร้างความหวังให้ตัวเองและเพื่อน ซึ่งจะทำให้ผู้เล่าเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองและเพื่อนๆ จะส่งผลให้จิตใจฟื้นตัวได้รวดเร็วและส่งผลไปถึงทางการฟื้นตัวทางกายด้วย ประการสำคัญสามารถจดจำประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ไปใช้ในเหตุการณ์คับขันอื่นๆ ได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน จะส่งผลให้ประชาชนที่ติดตามข่าวได้เรียนรู้วิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อเผชิญเหตุวิกฤติทั้งแบบหมู่หรือคนเดียวได้ เป็นประโยชน์ของการเรียนรู้จากสื่อสาธารณะไปพร้อมๆ กัน

นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ควรทำ มี 2 ประการ ได้แก่ 1. ไม่ควรถามเพื่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกด้านลบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ควรสัมภาษณ์คนเดียวซ้ำๆ เนื่องจากเวลาเล่าจะไปกระตุ้นให้ระลึกถึงเหตุการณ์ด้านลบนั้นซ้ำๆ เป็นผลเสียอย่างมากต่อเด็กๆ ที่ถูกสัมภาษณ์ ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว ตกใจ จิตใจหดหู่ขึ้นมาอีก โดยเฉพาะยิ่งหากมีการสัมภาษณ์ซ้ำๆ จะทำให้เครียดมาก เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของจิตใจ และอาจมีผลให้เกิดอาการเครียดเรื้อรัง และ 2. ไม่ควรนำเสนอข่าวที่สมจริงสมจัง ตื่นเต้นมากเกินควร เพราะจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วมตามไปด้วย เมื่อชมมากๆ หรือบ่อยๆ จะเกิดอาการทางจิตใจเหมือนผู้ประสบเหตุการณ์ได้ บางคนเกิดอาการได้มากเหมือนตัวเองกำลังเผชิญภัยพิบัติจริงๆ หากเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ประสบภัยในอดีตอาจเกิดภาวะซ้ำเติมทางจิตใจได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในการนำเสนอข่าววิกฤต หากมีการสอดแทรกเสนอเรื่องผ่อนคลาย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศด้วยและเสนอทางออกทางแก้ไข คำแนะนำด้านสุขภาพจิตด้วยจะเป็นผลดีต่อจิตใจ ไม่เครียดจนเกินไป

ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงคำถามที่ควรถามและไม่ควรถาม 13 ชีวิตที่จะออกมาจากถ้ำ ว่า คำถามที่ควรถาม เช่น รักษาชีวิตรอดได้อย่างไร เทคนิคในการเอาตัวรอด ท้อแท้บ้างหรือไม่ แล้วสร้างกำลังใจให้ตัวเองอย่างไร เอาชนะความกลัวได้อย่างไร พยายามสื่อสาร หรือทิ้งร่อยรอยเอาไว้ให้ติดตามอย่างไรบ้าง ใครเป็นฮีโร่ เป็นต้นแบบในถ้ำ ในเรื่องความกล้าหาญ ถ้าคิดในแง่ดี ความประทับใจจากเหตุการณ์นี้คืออะไร ดูแลกันเองอย่างไร ตอนอยู่ในถ้ำ คิดว่าถ้าออกไปได้จะทำอะไร แล้วตอนนี้คิดอยากจะทำอะไรต่อไป อนาคตอยากเป็นอะไร อยากขอบคุณใครบ้าง อยากบอกอะไรกับคนที่คอยให้กำลังใจ บทเรียนสำคัญที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้

คำถามที่ไม่ควรถาม เช่น รู้สึกผิดมั้ย เป็นความผิดใคร ถ้าจะโทษต้องโทษใคร เข็ดมั้ย คงจะไม่เข้ามาอีกแล้วใช่มั้ย ต่อไปคิดว่าจะกลัวความมืด กลัวถ้ำมั้ย ได้ทำอะไรลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเปล่า รู้มั้ยว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน พ่อแม่ ทุกคนเป็นห่วง รู้มั้ยว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมด คือ ... มีใครติดต่อไปเล่นละคร เล่นหนังหรือยัง มีลางอะไรมั้ย ก่อนเข้าถ้ำ ระหว่างอยู่ในถ้ำ ใครมาเข้าฝันบ้างมั้ย (หรือไปเข้าฝันใครบ้างมััย!) ดีใจมั้ยที่มีคนมาช่วย (คงเสียใจมั้ง!) แล้วก็ ควรจะมีจิตแพทย์เด็ก ช่วยให้คำแนะนำ คัดกรองคำถาม หรืออาจจะประกบในการสัมภาษณ์ด้วยครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น