กรมสุขภาพจิต เผย คนติดยาบ้าเสี่ยงโรคทางจิตสูงขึ้น 11 เท่าใช้ “สติบำบัด” ป้องกันเสพยาซ้ำหลังบำบัด ผลวิจัยที่ รพ.จิตเวชนครพนมฯ พบได้ผลดี ผู้ป่วยหยุดเสพได้ 100% ในระยะ 3 เดือนแรก เตรียมขยายผลศึกษาเปรียบเทียบกับวิธีอื่นต่อไป
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลสำรวจในกลุ่มประชาชนไทย อายุ 12-65 ปี ในปี 2559 พบมีผู้ที่เคยใช้สารเสพติดจำนวนเกือบ 3 ล้านคน หรือ 58.2 คนต่อประชากร 1,000 คน ประมาณร้อยละ 70 เป็นยาบ้า หรือ เมทแอมเฟตามีน ทั้งนี้ สารกระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน ที่พบแพร่ระบาดในไทยมี 2 รูปแบบ คือ ชนิดเม็ดหรือยาบ้า และชนิดเกร็ดหรือที่เรียกว่าไอซ์ ไม่ว่าจะเสพแบบไหนก็ตามทำให้เกิดปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจอย่างน้อย 5 ประการ คือ 1.ขาดสารอาหาร เนื่องจากทำให้ความอยากอาหารลดลง โดยหากเป็นเด็กและวัยรุ่น จะมีผลให้พัฒนาการของสมองล่าช้า ติดเชื้อง่าย เนื่องจากขาดภูมิต้านทานโรค 2.ความสามารถในการทำงานหรือการเรียนลดลง 3.มีความผิดปกติทางอารมณ์ ที่พบได้บ่อยคือ ซึมเศร้า วิตกกังวล พบได้ทั้งช่วงเสพยาและช่วงหยุดเสพ 4.สมองส่วนความคิดมีความผิดปกติ และ 5.เกิดอาการทางจิตพบในรายที่เสพติดอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
“ยาบ้าเป็นสารกระตุ้นประสาทที่พบอาการป่วยทางจิตได้บ่อยที่สุดเรียกว่า โรคจิตจากเมทแอมเฟตามีน มีอาการคล้ายกับโรคจิตเภท ที่พบบ่อยที่สุด คือ หวาดระแวงกลัวคนมาทำร้าย หูแว่วได้ยินคนอื่นพาดพิงถึงตน มีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองตนเองสูง ผลการวิจัยในต่างประเทศ พบว่า คนที่ติดยาบ้างอมแงมมีโอกาสเกิดโรคทางจิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 11 เท่าตัว จึงขอให้ผู้เสพเลิกเสพยาให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยสามารถเข้ารับการบำบัดได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยติดสารเสพติดที่มีอาการทางจิตเข้าบำบัดรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 226,391 คน คิดเป็นร้อยละ 8 จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 2,669,821 คน ในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งบำบัดรักษาและฟื้นฟู โดยตั้งเป้าหยุดเสพยาต่อเนื่อง 3 เดือน ภายหลังรักษาแล้วให้ได้ร้อยละ 98
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า ปีนี้ รพ.จิตเวชนครพนมฯ ได้ศึกษาประสิทธิภาพของโปรแกรมการบำบัดด้วยวิธีการ “สติบำบัด” โดยเพิ่มการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ และมีเทคนิคจัดการกับอารมณ์ ความอยากเสพยา เพื่อลดและป้องกันปัญหาการเสพยาซ้ำหลังรักษา ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงอาการป่วยทางจิตของผู้ติดยาเสพติดลงได้ ใช้เวลา 2 เดือน ทั้งขณะอยู่ที่ผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและอยู่ที่บ้าน ผลการศึกษาในผู้ป่วยที่อาการทางจิตทุเลาแล้วและสมัครใจในเบื้องต้นจำนวน 15 คน พบว่า สามารถป้องกันการกลับไปเสพยาซ้ำได้ผลเป็นที่พอใจ โดยภายใน 3 เดือน หลังครบโปรแกรมบำบัด ผู้ป่วยทั้ง 15 คน หรือ100% ไม่กลับไปเสพยาบ้า และไม่มีกลับเข้ามานอนพักรักษาแบบผู้ป่วยในซ้ำในโรงพยาบาล และยังได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะ 6 เดือน ผู้ป่วย 13 คน ไม่กลับไปเสพซ้ำ และมี 14 คน ไม่กลับมารักษาซ้ำแบบผู้ป่วยใน
นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ขั้นต่อไปวางแผนจะศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับการบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น วิธีการเสริมแรงจูงใจ ใช้ขนาดกลุ่มใหญ่ขึ้นตามมาตรฐานการวิจัยในระดับสากล ต่อไป สำหรับการทำสติบำบัดนั้น เป็นการฝึกให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันความคิดตัวเอง มีทักษะหยุดความคิดตัวเอง โดยเฉพาะความคิดการใช้ยาเสพติด ให้มีสติอยู่กับกิจกรรมที่ทำในปัจจุบัน ไม่วอกแวกไปกับความคิดอื่นที่จะนำพาไปสู่การใช้ยาเสพติดอีก ผู้ให้การบำบัดต้องได้ผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจากกรมสุขภาพจิต