จิตแพทย์ห่วง 13 ชีวิตหลังออกจากถ้ำถูกสังคมจับจ้อง กลายเป็นคนของสังคม วอนสื่ออย่าเร่งสอบถามเหตุการณ์จากเด็ก ชี้ถูกทบทวนเหตุการณ์ซ้ำๆ ยิ่งสร้างบาดแผลทางจิตใจซ้ำๆ
นพ.ธรนินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการดูแลสุขภาพจิตของนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ทีมสุขภาพจิตได้มีการปรึกษาหารือกันตลอด เบื้องต้นระหว่างดูแลทางร่างกายจะมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจาก รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ให้การดูแลไปพร้อมกันด้วย จนการดูแลด้านร่างกายพ้นวิกฤต ทีมสุขภาพจิตชุดใหญ่จึงเข้าไปดูแลต่อ ทั้งนี้ จะมีการประเมินเรื่องสภาวะจิตใจ ความเครียด ความกังวลต่างๆ และวางแผนให้การดูแลเยียวยาจิตใจตามปัญหาที่พบ ระยะถัดมาอาจจะประมาณ 1 หรือ 3 เดือนจะมีการประเมินซ้ำอย่างละเอียด และทำให้เด็กรู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรในอนาคต
นพ.ธรนินทร์กล่าวว่า ในแต่ละวิกฤตจะมีความแตกต่างกัน และมีผลต่อสภาพจิตใจที่แตกต่างกัน เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ถูกข่มขืน การฟื้นตัวจะแตกต่างกัน กรณีการติดอยู่ในถ้ำนั้นเรายังไม่เคยเจอ คิดว่าอาจจะเหมือนกับการติดในตึกถล่ม กลุ่มวิชาการที่หารือกันก็ต้องมีการทบทวนองค์ความรู้ว่า ควรจะเป็นอย่างไร แบบไหน เราต้องเรียนรู้ไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาภายในถ้ำเราไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้ เฉพาะความมืด ความกลัว ความกังวลอาจจะยังไม่มากนักสำหรับเด็กที่เคยเข้าไปในถ้ำนั้นมาหลายครั้งแล้ว และดูจากสภาพของเด็กๆ แล้วจากภาพที่ปรากฏออกมาก็ไม่ได้พบความรุนแรง สภาพร่างกายดี มองในเชิงบวกอาจจะไม่มีบาดแผลทางจิตใจมาก เมื่อได้รับการดูแลเยียวยาจากทีมสุขภาพจิตในระยะหนึ่งอาจจะกลับมาเป็นปกติได้ ที่เราใจชื้นคือไม่มีการบาดเจ็บขาหัก แขนหัก หรือเสียชีวิต ประเด็นนี้การบาดเจ็บทางจิตใจจะไม่มาก และการที่เคยเข้าไปในถ้ำมาหลายครั้งแล้วจึงพอรับรู้ว่าภายในถ้ำมีความมืด เพราะฉะนั้นจึงยังมองในแง่ดีว่าเด็กจะไม่มีความผิดปกติอะไรมากนัก
เมื่อถามว่าเมื่อออกมาจากถ้ำจะพบว่าสังคมมุ่งโฟกัสมาที่ตัวเด็กๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นพ.ธรนินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถกกันในทีมสุขภาพจิตว่าตอนนี้เขากลายเป็นคนของประเทศแล้ว ซึ่งการดำรงชีวิตอาจจะไม่ง่าย เพราะอาจจะต้องถูกจับตามองตลอดเวลา หากปรับตัวไม่ได้จะเกิดปัญหาได้ สิ่งที่เราต้องเฝ้าระวังคือ ภาวะเครียดรุนแรงหลังประสบภาวะวิกฤตในชีวิต ซึ่งเป็นความผิดปกติหนึ่ง คือ นอกจากการเผชิญภาวะวิกฤตในถ้ำแล้ว ออกมาข้างนอกเจอชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งสื่อสนใจ คนสนใจ ครอบครัว พ่อแม่เองก็มีการเปลี่ยนไป บางคนอาจจะสอบถามเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น บางครอบครัวจะปกป้องมากขึ้น จะไปไหนก็ลำบากมากขึ้น ทางทีมสุขภาพจิตจะต้องมาสร้างความเข้าใจเชิงบวกกับครอบครัวมากขึ้น เช่นเดียวกันจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่สื่อให้ความสนใจมากขึ้นด้วย
“เราห่วงที่สื่อสอบถามเหตุการณ์ในถ้ำบ่อยๆ เดาว่าไม่ต่ำกว่า 10-20 ครั้งหรือในชีวิตของเขาอาจจะต้องถูกทวนเรื่องนี้ซ้ำๆ ถ้าเด็กมองว่าการไปติดในถ้ำคือความกล้าหาญ คือเรื่องการผจญภัยก็คงไม่เป็นอะไร แต่หากมองว่ามันคือเรื่องทุกข์ทรมานมันจะเกิดผลในแง่ลบต่อจิตใจ ประเด็นต่อมาคือการที่ชีวิตเปลี่ยน หากปรับตัวไม่ได้จากการถูกจับจ้องตลอดจะทำให้เครียดมากทั้งในระยะสั้น ระยะยาว ดังนั้นจะต้องเตรียมให้น้องๆ พูดคุยในเชิงบวก และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิตให้มาก เพราะการถามซ้ำๆ ในภาษาสุขภาพจิตจะเรียกว่าเป็นการบาดเจ็บทางจิตใจซ้ำๆ หวนนึกถึงเหตุการณ์ซ้ำ เรื่องนี้เราคาดการณ์เอาไว้แล้วและจะต้องคุยกับเด็กก่อน เพราะสภาพจิตใจ ความเข้มแข็งของแต่ละคนแตกต่างกัน เรื่องนี้ไม่ควรเร่งรัด ต้องรอให้พร้อมก่อน” ผอ.รพ.สวนปรุงกล่าว