กทม.วืดค่าปรับ “บีทีเอส” 1.8 ล้านบาท เหตุไม่มีกำหนดค่าปรับในส่วนสัมปทาน ขณะที่ส่วนต่อขยายยกเว้นค่าปรับไว้ หากความล่าช้าการเดินรถเกิดจากส่วนสัมปทาน ปรับได้เฉพาะเรื่องความผิดในการจ้างเท่านั้น ยันขยายคลื่นความถี่เดินรถใหม่ทั้ง 52 ขบวน เสร้จสิ้นในคืนนี้
จากกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องบ่อยครั้งตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมากจากการเดินทางที่ล่าช้า โดยสาเหตุมาจากระบบอาณัติสัญญาณที่ถูกคลื่นความถี่ 2300 MHz รบกวน จนมีการเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยกเลิกสัมปทาน ซึ่ง กทม.ระบุว่า ไม่สามารถทำ แต่อาจสามารถปรับเป็นเงิน จากการเดินรถที่ไม่ได้ประสิทธิภาพตามกำหนด
วันนี้ (29 มิ.ย.) นายธนูชัย หุ่นวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการลงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสที่หมอชิต ที่นำโดย นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อค่ำวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ในส่วนของการเปลี่ยนระบบการสื่อสารของบีทีเอสจากโมโตโรล่า มาเป็น ม็อกซา (Moxa) เพื่อย้ายคลื่นความถี่วิทยุจาก 2400 MHz ไปอยู่ช่วง 2480-2495 MHz เพื่อเลี่ยงการถูกคลื่นความถี่ 2300 MHz รบกวนนั้น จะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมด 52 ขบวน ภายในคืนวันที่ 29 มิ.ย. นี้ และในวันที่ 30 มิ.ย. ก็จะสามารถเดินรถด้วยคลื่นใหม่ได้ทันที สำหรับการติดตั้งเครื่องกรองสัญญาณเพิ่มเติมในทุกขบวนนั้น ยังคงต้องใช้เวลา คาดว่าอาจจะแล้วเสร็จภายในสิ้น ก.ค.นี้ ก็จะทำให้การเดินรถเสถียรขึ้น
นายธนูชัย กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบนั้น ขณะนี้ทางบีทีเอสอยู่ระหว่างการหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งรองผู้ว่าฯ กทม.เองก็กำชับว่าจะต้องมีมาตรการรองรับด้วย เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารรู้ก่อนที่จะเข้าระบบว่าการเกดินรถมีปัญหา ไม่ใช่เข้าไปในระบบแล้วเพิ่งจะทราบว่าเกิดปัญหาขึ้น เป็นต้น ขณะที่การปรับบีทีเอส 1.8 ล้านบาท หากเดินรถไม่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 97.5% นั้น อาจไม่สามารถทำได้
“ตอนแรกที่ทาง กทม.จะปรับบีทีเอสในการเดินรถล่าช้านั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากในส่วนของสัมปทานไม่มีการกำหนดเรื่องค่าปรับเอาไว้ จะมีแค่ในส่วนต่อขยาย 2.2 กิโลเมตร ที่ระบุเรื่องของค่าปรับไว้ แต่เป็นในส่วนของการจ้าง และมีข้อยกเว้นว่า หากความล่าช้าเกิดขึ้นจากส่วนของสัมปทาน ซึ่งไม่เกี่ยวเรื่องของการจ้างจะไม่สามารถปรับได้ เนื่องจากตอนยกร่างมีความกังวลหากส่วนของสัมปทานมีความล่าช้า ก็จะทำให้ส่วนต่อขยายมีความล่าช้าไปด้วย ก็จะทำให้เกิดค่าปรับจำนวนมาก ขณะที่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นก็เกิดจากปัจจัยภายนอก รวมถึงการที่บีทีเอสซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาเสริมเพื่อแก้ปัญหาก็มีราคาสูงกว่าค่าปรับมาก” นายธนูชัย กล่าว