สธ.เผยการติดเชื้อ “พยาธิใบไม้ตับ” ในปลาและคนลดลง ห่วงศัลยแพทย์ไม่เพียงพอในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี พบข้อมูลผู้ป่วยกลับมาเป็นพยาธิใบไม้ตับซ้ำ จากการกินก้อยปลา ไม่ใช่ปลาร้า เร่งศึกษาข้อมูลเพิ่ม
วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแผนยุทธศาสตร์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานระยะแรก ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานครบวงจรเพื่อลดปัญหาพยาธิใบไม้ในตับ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปให้ความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงปลา เพื่อลดการติดพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งพบว่าได้ผลดี ปลาที่ติดพยาธิใบไม้ตับลดลง จากร้อยละ 70 เหลือเพียงร้อยละ 14-20 ประชาชนติดพยาธิใบไม้ตับลดลง จากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 8
สำหรับแผนระยะที่ 2 ระหว่างปี 2562-2568 จะต่อยอดการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ ช่วยประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 6 ล้านคน ให้ปลอดภัยจากพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าลดอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2575 ลดอัตราติดพยาธิใบไม้ตับให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2568 โดยจะเน้นการจัดกิจกรรมให้ความรู้ ตรวจคัดกรองให้พบตั้งแต่เริ่มต้น นำเข้าสู่กระบวนการรักษา และเพิ่มแพทย์เพื่อการผ่าตัดรักษาให้มากขึ้น
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากการดำเนินงาน 3 ปี พบปัญหาคือศัลยแพทย์ไม่เพียงพอ เนื่องจากมะเร็งท่อน้ำดีต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ แม้จะนำแพทย์มาอบรมแต่ปัญหาคือยังไม่สามารถผ่าตัดได้เพราะปัจจัยเรื่องเครื่องมือในพื้นที่อาจแตกต่างกับส่วนกลาง ดังนั้น ในปี 2562 จะส่งศัลยแพทย์เชี่ยวชาญสัญจรไปอบรมแพทย์ในพื้นที่ให้ได้ปฏิบัติจริงในพื้นที่จริง เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ เพิ่มขีดความสามารถ และเพิ่มความมั่นใจในการผ่าตัดให้มากขึ้น รองรับจำนวนผู้ป่วยที่พบและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้
นางอัมพร จันทวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำคู่มือวิชาการในการกินปลาร้าอย่างปลอดภัยไปแล้ว แต่ปัญหาใหม่ที่พบ คือ ยังมีผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้เกิดจากปลาร้า แต่เป็นกินก้อยปลา ซึ่งต้องมีการศึกษาและทำข้อมูลเสริมให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป