โรงพยาบาลพญาไท 2 เดินหน้าผลักดันนโยบายความเป็นเลิศด้านการแพทย์ (Centers of Excellence) ต่อเนื่อง ล่าสุดใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทพัฒนาศูนย์หัวใจให้เป็นศูนย์กลางรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ทันสมัยครบวงจรแห่งหนึ่งของเอเชีย เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทย และต่างประเทศ
นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลพญาไท 2 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศ 85% และจากต่างประเทศอีก 15% โดยมีการรุกขยายตลาดในกลุ่มประเทศจีน กัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว และตะวันออกกลาง โดยมุ่งไปที่กลุ่มตรวจสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ทั้งผู้ป่วยวิกฤต การสวนหัวใจ ผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นฟูและควบคุมปัจจัยเสี่ยง”
ในการทำตลาดต่างประเทศนั้น โรงพยาบาลทำความเข้าใจในพฤติกรรมความต้องการของแต่ละชาติ เป้าหมายมีบุคลากรดูแลเฉพาะของแต่ละประเทศในการทำการตลาด มีการจัดโรดโชว์ในแต่ละประเทศร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายต่างๆ เช่น โรงพยาบาลเอกชนท้องถิ่น และบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ
“ด้านการบริการในโรงพยาบาล เรามีแผนกที่ช่วยประสานงานและแปล ที่เรียกว่าฝ่าย IRC (International Relations officer) โดยจะดูแลผู้ป่วยและญาติตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล มีภาษามากกว่า 15 ภาษาให้บริการ”
“ในการพัฒนาศูนย์นั้น เราแบ่งงบประมาณเป็นการปรับปรุงสถานที่เน้นด้านความสะดวกสบายในการใช้บริการของผู้ป่วย และการอบรมพัฒนาบุคลากร 42 ล้านบาท เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีอีก 63 ล้านบาท” นพ.ทวนทศพรกล่าว
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้รับการรับรองแบบเจาะลึกรายโรค CCPC การดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล และดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ อายุรกรรม และศัลยกรรม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีทีมแพทย์อายุรกรรมหัวใจ และศัลยแพทย์หัวใจประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย เช่น มีห้องปฏิบัติการผ่าตัดหัวใจ มีห้องผ่าตัดแบบ Hybrid Operating Room ที่สามารถให้บริการสวนหัวใจและผ่าตัดแบบเปิดในห้องเดียวกันได้ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย พร้อมทีมแพทย์สวนหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง ที่จะช่วยให้การผ่าตัดหัวใจมีความปลอดภัยสูงสุด
“ด้วยนโยบายผลักดันจากภาครัฐให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (Medical Hub) แห่งเอเชียที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และด้วยความพร้อมของศูนย์หัวใจ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่โรงพยาบาลพญาไท 2 จะเดินหน้าพัฒนาและผลักดันศูนย์หัวใจให้เป็นศูนย์กลางการดูแล รักษาโรคหัวใจแห่งภูมิภาคเอเชีย”
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในแถบภูมิภาคเอเชีย โดยเฉลี่ยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ขณะที่จำนวนตัวเลขการท่องเที่ยวในเชิงการแพทย์ในไทยก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลก และมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดถึงประมาณ 38% ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด
ไทยมีความได้เปรียบและจุดแข็งหลายอย่าง เช่น การเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเข้มแข็งทางด้านธุรกิจการให้บริการ และนโยบายการขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐบาลที่สนั บสนุนให้กลุ่มบริการทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่สำคัญ ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบาย Thailand 4.0 และนโยบาย S-Curve ที่ผนวกกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์เข้ามาเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการบริหาร และแนวทางการให้บริการทางด้านการแพทย์
“นอกจากนี้ เรายังใช้กลยุทธ์เข้าถึงผู้ป่วยและญาติด้วยแนวทางการบริการดูแลรักษา “ดูแลที่หัวใจ” ที่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญ คือใช้ใจในการดูแลที่หัวใจของผู้ป่วยและญาติด้วย 1) การดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้ข้อมูลการรักษาครบถ้วน ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หาแนวทางการรักษา 2) โฮมมีแคร์ (Homey Care) ดูแลผู้ป่วย และญาติด้วยความเข้าใจ อบอุ่น เหมือนคนในครอบครัว” นายแพทย์ ทวนทศพรเสริม
รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยศาสตร์หลอดเลือดและทรวงอก โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวถึงสถานการณ์โรคหัวใจในปัจจุบันว่า สถิติการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดของคนไทยในปัจจุบันเฉลี่ยที่ 150 คนต่อวัน หรือปีละ 54,530 คน สถิติผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 17.7 ล้านคนต่อปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของคนไทย รองจากมะเร็ง และอุบัติเหตุ
สาเหตุของโรคหัวใจที่คนไทยเป็นมากที่สุด คือ หลอดเลือดหัวใจตีบ โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงโรคหัวใจมักหมายถึงโรคนี้เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจ และการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย จึงทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูง และต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วนเฉียบพลัน
“โรคหลอดเลือดหัวใจตีบนี้มักไม่แสดงอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค หรือเมื่อหลอดเลือดยังตีบไม่มาก ฉะนั้น วิธีป้องกันและดูแลหัวใจที่ดีที่สุด คือ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการออกกำลังกายตามสุขภาพ จำกัดอาหารไขมัน กินอาหารมีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน และควรตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป”
ในขณะเดียวกัน โรคลิ้นหัวใจเออร์ติกส์ตีบ เป็นโรคทางหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจเออร์ติกส์เปิดได้ไม่เต็มที่ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อให้สูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เท่าเดิม อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและอาจเสียชีวิตตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษา
“ปัจจุบันช่วงอายุของผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบที่พบอยู่ในช่วงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ เนื่องจากมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งเรื่องของอาหาร อารมณ์ ความเครียด ในขณะเดียวกัน คนไข้อายุมากมักมีโรคร่วมต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไตวาย อัมพาต เบาหวาน ทำให้ความยุ่งยากในการรักษาโรคหัวใจมากขึ้น และอันตรายจากโรคนี้ก็สูงขึ้นด้วย”
“การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมทางสายสวน หรือ TAVI เป็นนวัตกรรมทางเลือกนอกเหนือจากการผ่าตัดเปิดช่องอก ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะการตีบรุนแรงของลิ้นหัวใจเออร์ติกส์ ส่วนใหญ่การตีบมักเกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจที่มักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วยหลายโรค ทำให้สภาพร่างกายไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ และการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมระหว่างผ่าตัดได้ วิธีการนี้จะช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ให้ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รศ.นพ.กิตติชัยกล่าวเสริม
ปัจจุบันศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 รองรับผู้ป่วยนอก 150 คนต่อวัน ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นฟูและควบคุมปัจจัยเสี่ยง 30 คนต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 รายต่อเดือน