สธ.แจงตัวเลขผลิตแพทย์ 3,000 คนต่อปี จะเพียงพอในอีก 10 ปี พร้อมเร่งแก้ปัญหาการกระจายตัว ภาระงานมาก หวังคง “หมอ” ให้อยู่ในระบบ คาดเพิ่มค่าปรับเบี้ยวใช้ทุนจาก 4 แสนบาท เป็น 5 ล้านบาท เริ่มในปีการศึกษา 2562 เหตุไม่คุ้มเงินลงทุน เด็กจ่าย 4 แสนง่ายขึ้น เชื่ออัตราแพทย์เพียงพอ รัฐลดให้ทุนเรียน อนาคตอาจต้องจ่ายค่าเทอมเองเพิ่มมากขึ้น
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2561-2562 มีมติยืนยันการผลิตแพทย์เพิ่มปีละ 3,000 คนต่อไป ว่า การผลิตแพทย์ของประเทศไทยจะมีทั้งหมด 4 ส่วน คือ 1.การผลิตแพทย์ในระบบปกติ 2.การผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชนบท 3.การผลิตจากภาคเอกชน และ 4.นักเรียนไทยที่ไปจบแพทย์จากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในอดีตการผลิตแพทย์ในระบบปกติไม่เพียงพอ จึงมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนนี้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณหรือลงทุนในการเรียน จึงต้องมีการมาใช้ทุนหลังเรียนจบในโรงพยาบาลของหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งโดยหลักแล้วมักเป็นของ สธ.ขณะที่แพทย์ที่ผลิตเพิ่มเพื่่อชนบท ก็จะกลับไปใช้ทุนในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับการเคาะจำนวนการผลิตแพทย์ เนื่องจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ครบกำหนดเมื่อปี 2560 จึงต้องยื่นเสนอโครงการใหม่ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ จึงหารือกับทาง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ขอให้ทำอัตรากำลังความต้องการแพทย์ ซึ่ง สธ.ก็พิจารณาว่าทั้งสัดส่วนแพทย์ต่อจำนวนประชากร และการรองรับบริการในอนาคต โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุ จึงเสนอให้คงตัวเลขการผลิตที่ 3,000 คน เป็นระยะเวลา 10 ปี จึงจะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ถือเป็นการผลิตตามปกติไปแล้ว เพราะตอนนี้การขาดแคลนลดลง โดยปัจจุบันอัตรากำลังของแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 1,500 คน แต่ในอนาคตเราต้องการให้ได้ 1 ต่อ 1,200 และต้องมีการกระจายตัวที่ดีด้วย และเมื่อเพียงพอแล้วรัฐอาจพิจารณาลดการลงทุนในการเรียนแพทย์ หมายความว่าการผลิตแพทยือาจเท่าเดิม แต่ลดการสนับสนุนการลงทุนเรียนแพทย์ โดยผู้ที่จะเรียนแพทย์ในอนาคต อาจจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และไม่ต้องไปใช้ทุนตามพื้นที่หลังเรียน คล้ายกับการเรียนเภสัชฯ ในปัจจุบันที่ไม่ต้องไปใช้ทุนแล้ว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ส่วนการเสนอแก้ไขสัญญาเพิ่มค่าปรับจาก 4 แสนบาท เป็น 5 ล้านบาท หากไม่ไปใช้ทุนนั้น มีการพิจารณาว่าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ ส่วนที่ต้องปรับตัวเลข เพราะใช้มาตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งในอดีต 4 แสนบาท ถือว่าเป็นเงินที่มาก ทำให้คงบุคลากรไว้ในระบบได้บ้าง แต่ปัจจุบันไม่ใช่ หลายคนสามารถจ่ายได้ทันที แลกกับการไม่ต้องไปใช้ทุน บางคนมีผู้ออกเงินจ่ายให้ก่อนด้วยซ้ำ ขณะที่การลงทุนเรียนแพทย์ค่อนข้างสูง งบรายหัว 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ระยะเวลา 6 ปีก็ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท และยังมีงบลงทุนอื่นๆ อีก ทำให้มีตัวเลขว่าใช้งบลงทุนมากถึง 4 ล้านกว่าบาทต่อคน จึงมีการเสนอตัวเลขค่าปรับที่ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเพิ่มค่าปรับไม่ต้องมีการจ่ายเงินค้ำประกันใดๆ ก่อนอย่างที่กังวล อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้อยากได้ค่าปรับ แต่อยากได้บุคลากรทำงาน ซึ่งหากทำงานใช้ทุนครบ 3 ปี ก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ สำหรับการเปลี่ยนสัญญาค่าปรับใหม่คาดว่าจะเริ่มได้ในปีการศึกษา 2562 เพราะไม่ทันปีการศึกษา 2561 ที่รับนักศึกษาและทำสัญญาไปแล้ว
เมื่อถามว่าการลาออกไม่ใช้ทุนเพราะมีภาระงานหนัก ค่าตอบแทนน้อยหรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอยากไปอยู่ และการจัดบริการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการไหลของทรัพยากร ทำให้คนที่อยู่ต่อเกิดภาระงานล้นมือมากขึ้น อย่างแพทย์เฉพาะทางบางสาขาก็ขาด อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ต้องแก้ไข อย่างขณะนี้ สธ.ก็เดินหน้าเรื่องคลินิกหมอครอบครัว และ Primary Care Cluster ที่จะเน้นเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และดูแลโรคที่ง่ายไม่ซับซ้อน เพื่อลดความแออัดและภาระงานของโรงพยาบาล รวมถึงการอุดและเติมแพทย์ อย่างแพทย์เฉพาะทางที่ขาด ก็มีการให้ทุนแพทย์ที่มาใช้ทุน 3 ปี ไปเรียนต่อ ซึ่งการไปเรียนต่อโดยมีสังกัดถือเป็นความมั่นคงหนึ่งที่แพทย์ต้องการ เพราะถือเป็นการลาไปเรียน ยังคงได้รับเงินเดือน เมื่อเรียนเฉพาะทางจบกลับมาก็ต้องใช้ทุนต่อ โดยกลับมาใช้ทุนเป็นเวลา 2 เท่าของการไปเรียน เช่น เรียน 3 ปี ก็ต้องใช้ทุน 6 ปี เรียน 4 ปี ใช้ทุน 8 ปี
“ปัญหาคือเมื่อมีการดึงเด็กใช้ทุนหลังเรียนจบมาเรียนเฉพาะทางเพื่อเติมเต็ม ก็จะเกิดปัญหาแพทย์ที่จบมาใหม่ไม่เพียงพออีก ก็พยายามให้โควตาในพื้นที่ที่ไม่มีคนอยากไป หรือแม้แต่แพทย์ที่ไปเรียนเฉพาะทางจบแล้วก็ไม่ยอมกลับมาใช้ทุน ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้โรงพยาบาลเสียโอกาส เพราะบางแห่งทุกอย่างพร้อม รอแค่มีแพทย์เฉพาะทางมาให้บริการ ก็ต้องมาหาคนใหม่ไปเรียน เสียเวลาไปอีก ซึ่งค่าปรับในส่วนของแพทย์ที่ไปเรียนเฉพาะทาง จะคิดจากเงินเดือนที่ได้รับ โดยคิดเป็น 2 เท่าของเวลาที่ไปเรียน แต่หากเป็นสาขายอดนิยมก็จะคิด 3 เท่า เพราะมีโอกาสไปทำงานที่อื่นมากกว่า เช่น ด้านผิวหนัง เป็นต้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว