มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย ผลการสุ่มตรวจ “อาหารเสริมลดน้ำหนัก” ออนไลน์ พบใส่สารอันตราย 6 ยี่ห้อ หนึ่งในนันมี “ลีน” ที่ อย. ประกาศถอนทะเบียน จี้ตลาดออนไลน์ 4 แห่งที่ยังขาย นำสินค้าผิดกฎหมายออกจากตลาด ตรวจสอบสินค้าทุกครั้งก่อนให้ขาย
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการแถลงข่าวผลทดสอบ “ไซบูทรามีน - ฟลูออกซิทีน” ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ที่สั่งซื้อจากออนไลน์ โดย น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออนไลน์ เกิดจากการใช้ข้อความโฆษณาเกินจริง ผู้บริโภคไม่มีแหล่งตรวจสอบข้อความโฆษณา ว่า ได้รับอนุญาตหรือเกินจริงหรือไม่ รวมถึงค่านิยมผอม ขาว การโฆษณากระตุ้นให้อยากขาว สวย ผอม เหมือนเน็ตไอดอล หรือศิลปินดาราที่นำเสนอสินค้า
น.ส.สถาพร กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มทดสอบซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ผ่านช่องทางห้างออนไลน์ชื่อดัง 8 แห่ง ได้แก่ LAZADA, C mart, 11 street, Shopee, Shop at 24, We mall, Watsons, และ Konvy ในเดือน ก.พ.- มี.ค. ที่ผ่านมา และส่งตรวจพบ “ไซบูทรามีน” และ “ฟลูออกซิทีน” ในอาหารเสริมลดน้ำหนัก 6 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ AIKA, MINIMAL by FALONFON, S-Line, LYN, L-Fin by Luk-Sam-Rong และ Kalo จากห้างออนไลน์ชื่อดัง 4 แห่ง ได้แก่ LAZADA, C mart, 11 street, และ Shopee ส่วนอีก 4 แห่ง ไม่พบยาทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบางตัวพบสารชนิดเดัยว บางตัวพบทั้ง 2 ชนิด ที่น่าห่วงคือ จากการสำรวจข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2561 พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบยังคงขายในร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะ “ลีน (Lyn)” ที่ อย. ประกาศว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และยกเลิกเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย
“ขอเรียกร้องให้ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยทันที กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการออนไลน์ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ผู้ให้บริการ หรือ ผู้ดูแลระบบ หรือ แอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการนำเข้าข้อมูล เมื่อพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ถ้าได้รับการแจ้งเตือนแล้วลบออก ไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าไม่ยอมลบออก โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” น.ส.สถาพร กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตนมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ตลาดออนไลน์ทั้ง 4 แห่ง ต้องนำสินค้าออกจากตลาดออนไลน์โดยทันที 2. ตลาดและร้านค้าออนไลน์ ต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนจำหน่ายทุกรายการ ว่า ผิดกฎหมายหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นบัญชีดำของ อย. หรือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือไม่ หรือเมื่อ อย. ประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายต่อสาธารณะ ผู้ให้บริการจะต้องหาวิธีการระงับหรือนำข้อมูลผลิตภัณฑ์ ออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด และ 3. บริษัทต้องรับคืนสินค้าที่ผิดกฎหมายทุกรายการที่ผู้บริโภคได้ซื้อไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้งหมด ถ้าไม่ปฏิบัติขอให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้บทลงโทษสูงสุด
น.ส.สารี กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เร่งออกกฎหมายยกระดับไซบูทรามีน ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 หากผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท หากขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท - 2 ล้านบาท รวมถึงการครอบครองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดด้วย
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ไซบูทรามีนเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยยาดังกล่าวได้ถูกถอนออกจากตลาดในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และอีกหลายประเทศ เพราะมีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง เสี่ยงการที่ทำให้หัวใจขาดเลือดและการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันในประเทศไทย ห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือขายยาดังกล่าว ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนที่ขายหรือนำเข้า ถือว่าเป็นการขายหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ส่วนฟลูออกซิทีนเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย แล้วตรวจพบไซบูทรามีนหรือฟลูออกซิทีนในส่วนผสม ถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายอาหารปลอมถ้าหากมีฉลากเพื่อลวงให้เกิดความเข้าใจผิด มีโทษจำคุกทั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท