เครือข่ายองค์กรลูกจ้าง เตรียมยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” วันที่ 1 มิ.ย. นี้ ขอยกเลิกระเบียบคลังการรับลูกจ้าง ชี้ ทำคนตกงาน พ่วงสกัดสิทธิ “ลูกจ้างส่วนราชการ” กว่า 1.4 ล้านคน เข้าสู่กองทุนเงินทดแทนตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่
วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่โรงแรมเบย์ ถ.ศรีนครินทร์ กลุ่มเครือข่ายองค์กรลูกจ้างกว่า 20 องค์กร อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กลุ่มพลังเพื่อนแรงงาน เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ร่วมแถลงข่าว “ขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิและบริการของกองทุนเงินทดแทนของลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐ” พร้อมออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ. 2561
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ที่มิใช่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ทุกหน่วยงานมีลูกจ้างที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจำนวน 904,759 ราย จากหน่วยงานรัฐทั้งหมด 9,361 แห่ง และยังมีลูกจ้างเหมาบริการ 475,828 ราย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย ก็จะเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ด้วย รวมแล้วกว่า 1.4 ล้านคน
นายมนัส กล่าวว่า แต่จากการออกระเบียบกระทรวงการคลังฯ ดังกล่าวทำให้ลูกจ้างในส่วนดังกล่าวทั้งหมดรวมกว่า 1.4 ล้านคน ถูกลิดรอนสิทธิ โดยลูกจ้างเหมาบริการ เดิมไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆ อยู่แล้ว และลูกจ้างส่วนราชการที่เข้าประกันสังคม เราไม่รู้ว่ามีสัญญาจ้างแบบใด ปีต่อปี 3 ปี หรือ 4 ปี ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังระบุว่า การว่าจ้างจะต้องสิ้นสุดในปีงบประมาณนั้นๆ และเมื่อพนักงานหรือลูกจ้างลาออก หรือส่วนราชการหมดความจำเป็นในการจ้างให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้าง ก็จะกลายเป็นมีการตกงานเพิ่มขึ้นอีกใช่หรือไม่
“ลูกจ้างเหมาบริการกลุ่มนี้น่าเห็นใจ เนื่องจากส่วนราชการทำสัญญาจ้างแบบเหมาบริการหรือเหมาทำของ รับจ้างทำของเสร็จก็จบ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เป็นการจ้างแบบสัญญาปีต่อปี หรือ 3 - 4 ปีก็มี ขึ้นอยู่กับแต่ละแห่งและด้วยสัญญาจ้างที่ระบุว่าเป็นการจ้างเหมาทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ ที่ผ่านมาใครต้องการเรียกร้องสิทธิก็ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเอง เป็นแบบเคสบายเคส เรียกว่า เดิมทีก็ถูกลิดรอนอยู่แล้ว ทำงานให้ส่วนราชการ แต่หากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงานจะไม่ได้อะไรเลย ยิ่งกระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างงานแบบนี้มาอีก เหมือนเป็นการซ้ำเติม” นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวว่า เครือข่ายอีกกว่า 20 องค์กร ซึ่งได้มีการประชุมหารือ และมีมติเห็นชอบร่วมกันที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อขอให้ลูกจ้างส่วนราชการทั้งหมดต้องได้รับความคุ้มครองทั้งจากกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน และตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะกองทุนเงินทดแทนที่เมื่อเวลาลูกจ้างภาครัฐประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ควรได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างภาคเอกชน ซึ่งจากการประมาณการว่าอัตราการจ่ายต่ำสุดของนายจ้างหรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ คือ 0.2% จากฐานเงินเดือนของลูกจ้างที่ต่ำสุด คือ 9,000 บาท ไม่เกิน 20,000 บาท หน่วยงานรัฐนั้นต้องอุดหนุนงบประมาณเข้ากองทุนประมาณ 18 - 40 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจากประมาณการตัวเลขลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1.4 ล้านคน หากคิดจากอัตราสูงสุดก็อยู่ที่ประมาณ 56 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำจากการจ้างงานและเพิ่มความเป็นธรรมได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไปยื่นหนังสือไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทใช่หรือไม่ นายมนัส กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่ใครจะไปร่วมก็ขึ้นอยู่กับสิทธิแต่ละคน แต่จากการประชุมเฉพาะ 20 องค์กรเห็นว่า จะไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้กระทรวงการคลังยกเลิกระเบียบ และขอให้ลูกจ้างส่วนราชการทุกประเภทที่มีการจ้างงานในปัจจุบันได้มีการว่าจ้างตามระบบถูกต้องและเข้าสู่สิทธิที่ควรได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบราชการไทย
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินทดแทนฯ และขอให้ลูกจ้างส่วนราชการทุกประเภทต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันไทยมีลูกจ้างต่างด้าวเข้ามาประเทศไทยไม่ใช่น้อย ในขณะที่ลูกจ้างคนไทยแท้ๆ อยู่นอกระบบเยอะ ยิ่งส่วนราชการยิ่งมาก จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลควรทำเป็นต้นแบบให้สิทธิอย่างเท่าเทียม ให้พวกเขาได้รับการคุ้มครอง โดยหากพวกเขาเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุจากการทำงานก็ต้องได้รับการดูแลด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลจะใจกว้างและเห็นใจแรงงานเหล่านี้
นายภาคภูมิ สุกใส กรรมการ สพท. กล่าวว่า ส่วนราชการมีลูกจ้างกลุ่มเหมาทำของ เหมาบริการเยอะมาก แต่พวกเขากลับได้เงินเดือนน้อย การดูแลสิทธิสวัสดิการก็ไม่ได้ ทั้งที่การจ้างงานไม่ได้แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป ยิ่งระเบียบกระทรวงการคลังออกมา ยิ่งเป็นการสกัดไม่ให้พวกเขาได้เข้าสู่กองทุนเงินทดแทน ทั้งที่มีการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินทดแทนฉบับใหม่ ซึ่งเดิมให้สิทธิแต่ลูกจ้างเอกชน เป็นเพิ่มให้ลูกจ้างส่วนราชการครั้งแรก แต่ระเบียบกระทรวงคลังก็มาสกัดอีก และยังควบคุมการจ้างให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงออกระเบียบมาเช่นนี้ จึงต้องขอร้องท่านนายกฯ ให้เห็นใจ และสั่งให้กระทรวงคลังยกเลิกระเบียบนี้ และขอให้ลูกจ้างส่วนราชการทั้งหมดได้เข้าสิทธิประกันสังคม เพื่อจะได้สิทธิสวัสดิการในการดูแลไม่มากก็น้อย ดีกว่าที่ผ่านมาไม่ได้เลย
พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทนนั้น สิ่งที่สหภาพฯ อยากขอคือ ขอให้คุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภท เพราะราชการเวลาทำงานนั้นทำงานเป็นทีม เวลาเกิดเหตุก็ควรได้รับการคุ้มครองดูแลเท่าเทียมกัน ซึ่งหากในครั้งนี้ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน ยังไม่ได้รับความคุ้มครองก็ขอให้เป็นการพิจารณาในวาระหน้า หรือหาระบบทดแทนดูแล ซึ่งหากได้รับสิทธิพื้นฐานเท่ากัน การทำงานก็จะมีคุณค่า ประเทศไทยก็จะพัฒนาขึ้นเรื่องระบบแรงงาน สำหรับเรื่องลูกจ้างเหมาบริการไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการนั้น ตนมองว่าหากการจ้างงานนั้นเกิดผลประโยชน์ขึ้นกับใคร ถือว่าเป็นการจ้างงานทั้งสิ้น จึงควรได้รับสิทธิและสวัสดิการด้วย