กรมวิทย์ตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อแบคทีเรีย “ไข้กาฬหลังแอ่น” ได้ภายใน 1 วัน พบสายพันธุ์ในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเริ่มจากมี ไข้สูงทันที ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาวะโลหิตเป็นพิษ ทำให้เกิดผื่นเลือดออกใต้ผิวหนัง ความดันโลหิตต่ำ และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ปัจจุบันเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis มีทั้งสิ้น 13 ซีโรกรุ๊ป โดยสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคร้อยละ 90 เป็นซีโรกรุ๊ป A, B, C, Y และ W135 ต่อมาพบ ซีโรกรุ๊ป X ในแถบอัฟริกามากขึ้น สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวัง ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2560 มีรายงานผู้ป่วย 29 ราย เสียชีวิต 8 ราย คิดเป็น อัตราป่วย 0.04 ต่อแสนประชากร ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ และจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ยะลา พัทลุง และสงขลา
นพ.สุขุม กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้นำวิธี Polymerase chain reaction (PCR) มาทำการตรวจเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นจากตัวอย่างเชื้อบริสุทธิ์ของผู้ป่วย ที่ สงสัยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ถึงระดับซีโรกรุ๊ป A, B, C, Y และ W135 สามารถรายงานผลได้ภายใน 1 วัน มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้ ผลการตรวจตัวอย่างเชื้อบริสุทธิ์ที่แยกจากผู้ป่วยที่สงสัยเป็น โรคไข้กาฬหลังแอ่น ระหว่างปี พ.ศ.2559-2560 จำนวน 10 ราย พบเชื้อ Neisseria meningitidis ซีโรกรุ๊ป B ร้อยละ 100 ซึ่งเป็นซีโรกรุ๊ปที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยสามารถป้องกันซีโรกรุ๊ป A, C, Y และ W135 ได้เท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การตรวจยืนยันเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ใช้วิธีทดสอบทางชีวเคมี และการตรวจแยกซีโรกรุ๊ปด้วยวิธี Latex agglutination ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลาตรวจ 3-5 วัน และมีข้อจำกัดของน้ำยาที่ใช้ไม่สามารถแยกซีโรกรุ๊ปของเชื้อได้ มีความไวต่ำ และราคาแพง
“การตรวจยืนยันเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นด้วยเทคนิค PCR ซึ่งสามารถแยกซีโรกรุ๊ปที่ก่อโรคได้ จึงเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในทางระบาดวิทยา ทำให้ทราบสายพันธุ์ที่ก่อโรคในประเทศ และช่วยเฝ้าระวังโรคในพื้นที่เสี่ยง ส่งผลให้ผู้ป่วย และผู้สัมผัสโรคไม่แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น ที่สำคัญเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันครอบคลุมซีโรกรุ๊ป B ที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยในประเทศมากขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว