xs
xsm
sm
md
lg

พบ “สารพาราควอต” ตกค้างเพียบใน “น้ำปู๋” จี้นายกฯ สั่งยกเลิกใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้บริโภคเผยข้อมูล พบการตกค้างสารพาราควอตในสัตว์เกินมาตรฐาน ทั้งปูนา กบหนอง ปลากะมัง หอยกาบน้ำจืด อึ้ง!! น้ำปู๋ก็ยังพบ ทั้งที่ผ่านกระบวนการผลิตและความร้อนมาแล้ว ขณะที่หญิงท้องสามารถส่งสารพิษต่อไปยังลูกได้ จี้ นายกฯ กรรมการวัตถุอันตราย เห็นแก่ความปลอดภัย สั่งยกเลิกใช้พาราควอตในการประชุมวันที่ 23 พ.ค. นี้ หลังยืดเยื้อมากว่าปี

วันนี้ (18 พ.ค.) นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและสัตว์เกินกว่าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กำหนด คือ ให้มีในอาหาร (เนื้อสัตว์) ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ซึ่ง ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาพบว่า ปูนา มีสารพาราควอตอยู่ระหว่าง 24 - 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 - 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 - 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 - 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ หรือ น้ำปู ซึ่งโดยกระบวนการผลิตต้องผ่านความร้อนที่สูงมาก ยังพบว่าปริมาณการตรวจพบพาราควอตไม่ได้ลดลงกว่าปูนา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากการตรวจพบในสิ่งแวดล้อมแล้ว ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ ยังวิจัยพบข้อมูลว่ามีการตกค้างในร่างกายคน เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกได้ มีการตกค้างของพาราควอตในซีรัมเด็กแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17 - 20% และยังบอกอีกว่าคนท้องที่ทำเกษตรช่วง 6 - 9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าคนท้องที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่า และตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กแรกเกิดสูงถึง 54.7% อีกทั้งข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังบอกว่า พาราควอตเป็นพิษในระยะยาว และก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวกับมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้นนี้ยังมีข้อมูลว่า 50 กว่าประเทศ มีการยกเลิกหรือประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตแล้ว รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตอย่างอังกฤษ จีน และ สวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ลาว เขมร และ เวียดนาม ก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี และ คณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นแก่ความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค เห็นแก่สุขภาพของคนทั้งประเทศขอให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค. นี้ และขอเชิญชวนประชาชนและสื่อมวลชนที่สนใจร่วมเวทีความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค - ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต ในวันที่ 20 พ.ค. 2561 ระหว่างเวลา 9.30 - 13.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ





กำลังโหลดความคิดเห็น