มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย้ำเลข อย.ไม่ศักดิสิทธิ์ ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยสินค้า ชี้ “อาหารเสริม-เครื่องสำอาง” แค่จดแจ้ง ไม่มีการตรวจสอบก่อนให้เลข เตือนเน้นหาลูกค้ามากกว่าขายของ ระวังเข้าวังวนลูกโซ่ขายตรง แนะเลิกขึ้นทะเบียนแบบออนไลน์ ชี้ตรวจสอบสถานที่ผลิต 90% ไม่มีสถานที่ผลิตจริง
วันนี้ (26 เม.ย.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงปัญหาการตรวจสอบเลข อย. แต่ไม่ช่วยให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์เถื่อนหรือของปลอม ว่าการควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะแตกต่างกันไป หากเป็นยาจะมีการตรวจสอบเข้มก่อนขึ้นทะเบียน ห้ามโฆษณา แต่เครื่องสำอางและอาหาร แค่แจ้งข้อมูลชื่อ ส่วนประกอบ สารประกอบเท่านั้น ไม่ได้ตรวจตัวผลิตภัณฑ์ก่อนอนุญาตเลข อย. ซึ่งจริงๆ อยากเห็นการตรวจผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะอนุญาตเลขทะเบียน แต่กฎหมายให้ความสำคัญกับการดูที่ปลายทาง ดังนั้น ต้องมีคนมากพอที่จะดู เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ขอเลขทะเบียนผ่านทางออนไลน์ มีการยื่นเอกสาร ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาแล้ว จึงไม่ต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนก็ได้ แต่เมื่อบังเอิญมีการตรวจสอบสถานที่ผลิตกลับพบว่าร้อยละ 90 ไม่มีสถานที่ผลิตจริง เป็นเพียงบ้านคนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอนุญาตเลขทะเบียนให้หรือไม่ ดังนั้น เพื่อลดปัญหาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมาย คือ การยกเลิกจดแจ้งขออนุญาตผลิตเครื่องสำอางออนไลน์ และอย่างน้อยควรไปจดแจ้งโดยตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันว่าใครเป็นผู้ผลิตและสถานที่ผลิตเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่
“ตอนนี้ต้องบอกว่าเลข อย.ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ต้องตรวจสอบ ผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง เรื่องอาหารก็เหมือนกัน ต้องบอกว่าประเทศเรามีปัญหาเรื่องการตรวจสอบในท้องตลาด ดังนั้น ความตื่นตัวของผู้บริโภคเองยังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราต้องเข้มแข็งและอย่ามาคิดแบบดาราบางคน ที่คิดว่ามีเลข อย.แล้วต้องใช้ได้ คำแนะนำคือ เมื่อไรก็ตามที่คนขายของ ไม่ขายของแต่เน้นให้เราหาลูกค้า ต้องระวังว่ากำลังเข้าสู่วังวนลูกโซ่ขายตรง” น.ส.สารีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำอย่างไรให้ตรา อย.ศักดิ์สิทธิ์ ผู้บริโภคไว้วางใจได้ น.ส.สารีกล่าวว่า เราเองก็อยากเห็นตรา อย.ทำให้คนสบายใจได้ แต่ขณะนี้มันเป็นไปไม่ได้เลย แค่เมจิกสกิน 200 กว่ายี่ห้อต้องใช้คนมากแค่ไหน เราต้องยอมรับความจริง แต่ก็คาดหวังเรื่องการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการเปิดเผยชื่อยี่ห้อ การทำอย่างเข้มข้น เข้มแข็ง ต้องยอมรับว่าวันนี้มันไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นคุณต้องทำงานมากขึ้น เพื่อให้ปลอดภัย ไม่ใช่ทำงานเท่าเดิม อีกส่วนหนึ่งผู้ผลิตก็ต้องมีความรับผิดชอบไม่ทำของปลอมที่อันตราย
น.ส.สารีกล่าวว่า ส่วนการรีวิวเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาเพราะมีการให้คำแนะนำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ให้ต่อผู้บริโภค ซึ่งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.เครื่องสำอาง รวมถึงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีหลักว่าต้องไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง ไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้านั้น เช่น ที่บอกว่าไม่เป็นเท็จ คือหากมีการรีวิวว่าใช้แล้วดี หน้าเด้ง คนรีวิวก็ต้องมีการใช้จริงถึงจะบอกแบบนั้นได้ หากไม่ได้ใช้จริงแต่มาพูด เท่ากับว่าเขาพูดเท็จ ซึ่งการโฆษณาผิดกฎหมายปรับได้ถึง 1 แสนบาท และสามารถจำคุกได้หากทำผิดซ้ำซาก หรือทั้งจำทั้งปรับ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของคนที่พูดอะไรแสดงว่าเชื่อแบบนั้น ใช้แบบนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ถึงขั้นต้องทำกฎหมายเหมือนในต่างประเทศที่กำหนดให้คนที่โฆษณาผลิตภัณฑ์อะไรต้องมีการใช้จริงอย่างน้อย 6 เดือนเป็นอย่างน้อย แต่กฎหมายบ้านเราก็พอที่จะครอบคลุมได้ คือการโฆษณาต้องไม่เกินจริง ไม่เป็นเท็จ และการรีวิวเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา