xs
xsm
sm
md
lg

เช็ก “เลข อย.” ก็ไม่รู้ว่าปลอม “เมจิกสกิน” โมเดลซิกแซ็กไม่ทำตามจดแจ้ง ปชช.ตรวจสอบยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมย์ พิชญ์นาฏ โพสต์ไอจีแสดงตรวจสอบเลข อย.ผลิตภัณฑ์เมจิกสกินแล้วพบสถานะคงอยู่ จึงไม่คิดว่าเป็นของปลอม (แฟ้มภาพ)
อย.ยอมรับเช็ก “เลข อย.” ไม่ทำให้รู้ว่าเป็นผลิตปลอม หลังดาราโอดตรวจสอบ "เมจิกสกิน" แล้วมี อย.รับรอง แจงเจ้าของซิกแซ็กไม่ทำตามที่จดแจ้งได้ ทั้งแอบใส่สารอันตราย เปลี่ยนสถานที่ผลิต แต่ทำฉลากให้ตรงตามแจ้ง แนะ ปชช.หากโฆษณาเกินจริงให้เชื่อว่าเป็นของปลอม ส่วนดาราอย่าไปรีวิวเกินจริง ยิ่งอาหารเสริมต้องมาขออนุญาต อย.ก่อนรีวิว

ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีศิลปินดาราหลายคนที่ทำการรีวิวผลิตภัณฑ์ “เมจิก สกิน” อ้างว่าทำการตรวจสอบเลข อย.แล้วไม่พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมว่า ยอมรับว่าการตรวจสอบเพียงเลข อย.ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมหรือลอบผสมใส่สารอันตรายหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มเครื่องสำอาง เป็นเพียงการมาจดแจ้งว่าจะผลิตเครื่องสำอางอะไร มีส่วนประกอบอะไร หากไม่ผิดหลักเกณฑ์ของทาง อย.ก็จะได้รับเลขจดแจ้งจาก อย. โดย อย.จะดำเนินการสุ่มตรวจภายหลังว่าดำเนินการตามที่จดแจ้งไว้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อเวลานำเลขจดแจ้งมาตรวจสอบในเว็บไซต์ของ อย.ก็จะพบข้อมูลตามที่ทางผู้ประกอบการหรือผู้ค้ามายื่นจดแจ้งไว้และระบุสถานะว่ายังคงอยู่หรือไม่

ภก.สมชายกล่าวว่า จากระบบตรงนี้ทำให้มีผู้ประกอบการบางราย ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยๆ ลักลอบไม่ทำตาม เช่น มีการแอบใส่สารอันตรายที่นอกเหนือไปจากที่ยื่นจดแจ้ง หรือลอบไปผลิตสถานที่อื่นที่ไม่ได้จดแจ้งไว้ เหมือนอย่างของกรณีเมจิกสกินที่ยื่นจดแจ้งสถานที่ผลิตแห่งหนึ่ง แต่เมื่อไปตรวจค้นพบว่าเป็นบ้านพักธรรมดา ไม่ได้เป็นโรงงานผลิต อย่างไรก็ตาม ในเมื่อผู้ประกอบการตั้งใจจะไม่ทำตามกฎหมายหรือตั้งใจหลอกลวง ก็จะทำฉลากผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับที่มาจดแจ้งไว้ ดังนั้น เมื่อมาตรวจสอบจึงพบสถานะยังคงอยู่ แต่หาก อย.มีการตรวจสอบพบว่าดำเนินการผิดกฎหมาย ก็จะเพิกถอนการจดแจ้งดังกล่าว และเมื่อมาค้นก็จะพบว่าถูกเพิกถอนสถานะออกไปแล้ว อย่างตอนนี้หากมาค้นเลขของเมจิกสกินก็จะพบว่าถูกเพิกถอนสถานะออกไปแล้ว

เมื่อถามว่าแล้วประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมหรือไม่ ภก.สมชายกล่าวว่า ประชาชนก็ต้องมีความระมัดระวัง ยิ่งหากมีการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริงก็ยิ่งเชื่อไม่ได้ สำหรับศิลปินดาราที่จะรีวิวก็ขอให้ระวังด้วยเช่นกัน คือ อย่าไปรีวิวอะไรที่มันเกินจริง เพราะไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกหรือผิดกฎหมาย แต่หากไปโฆษณาเกินจริงหรือโอ้อวดก็ถือว่าทำผิดเรื่องการโฆษณาเช่นกัน ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องมีการขออนุญาตการโฆษณาก่อนทุกครั้ง แม้แต่การจ้างมารีวิว ดังนั้นก็จะต้องมาขออนุญาตก่อน จะมารีวิวโฆษณาเองเลยไม่ได้ ส่วนที่จะยกระดับการจดแจ้งเครื่องสำอางให้เป็นการควบคุมหรือไม่ อยากให้เข้าใจผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย เพราะหากเพิ่มหลักเกณฑ์ก็จะตัดโอกาสการแข่งขันกับตลาดส่งออก


กำลังโหลดความคิดเห็น