xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยังไม่รื้อตลาดรอบบ้าน “ป้าทุบรถ” ชี้เจ้าของมีสิทธิอุทธรณ์ พร้อมไล่เบี้ย ขรก.ชดใช้ค่าเสียหาย หากผิดจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. ตั้ง คกก. พิจารณาคดีตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ ยันพร้อมทำตามคำสั่งศาล ไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่ยังเข้ารื้อไม่ได้ เหตุคำสั่งศาลยังไม่สิ้นสุด เจ้าของตลาดมีสิทธิอุทธรณ์ ย้ำ หากสิ้นสุดแล้วต้องรื้อ เจ้าของตลาดต้องรื้อเอง ส่วนค่าเสียหายเตรียมไล่เบี้ยข้าราชการและอดีตข้าราชการ 15 คน ชดใช้แทน หากผิดทางละเมิดจริง

ความคืบหน้ากรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องรื้อถอนตลาดรอบบ้าน น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ หรือ ป้าทุบรถ เจ้าของบ้านภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่า เขตประเวศ พร้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมกว่า 1.4 ล้านบาท หลังจากที่ น.ส.บุญศรี ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาล

วันนี้ (17 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. พล.ต.อ.อัวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมายของ กทม. สำนักงานเขตประเวศ และสำนักการโยธา เพื่อหารือถึงการดำเนินการเกี่ยวกับคดีตลาดรอบบ้านทุบรถ

โดย นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัด กทม. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า พล.ต.อ.อัศวิน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลกรณีคดีตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ ซึ่งมีตนเป็นประธาน เพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมด ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าหน้า ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน สำหรับการรื้อถอนตลาดหรือไม่นั้น ขณะนี้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ต้องดูว่าเจ้าของตลาดจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ หากเจ้าของตลาดไม่อุทธรณ์หรือหากคำพิพากษาถึงที่สุดให้รื้อตลาดก็ต้องรื้อ โดยเจ้าของตลาดต้องเป็นผู้รื้อเองในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากเป้นพื้นที่เอกชน ซึ่งหากครบกำหนดระยะเวลาในการรื้อตลาดแล้วเจ้าของตลาดยังไม่รื้อ กทม.ก็จะทำการรื้อและเรียกเก็บค่ารื้อจากเจ้าของตลาด ซึ่งตามหลักการ กทม.มีระยะเวลาในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล 30 วัน ซึ่งตามข้อกฎหมายด้านคำตัดสิน กทม. ยอมรับ

นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัว น.ส.บุญศรี คณะกรรมการจะพิจารณาถึงความรับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายที่ กทม. จะต้องชดใช้ให้ผู้ร้อง ซึ่งเบื้องต้นมีผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจำนวน 15 คน มีทั้งอดีตผู้อำนวยการเขต อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ และผู้อำนวยการเขต จึงต้องดูให้ละเอียดว่าตั้งแต่ปี 2553 แต่ละช่วงเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ทั้งนี้ กทม.จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการละเมิดขึ้นมาเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นการทำความผิดในกรณีละเมิดหรือไม่ หากเป็นกรณีละเมิด กทม. จะให้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 15 คน เป็นผู้ชดใช้ ซึ่งจะรับผิดชอบชดใช้ไม่เท่ากัน แล้วแต่ระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ หากเกษียณแล้วอาจรับผิดชอบเพียงฐานละเมิด ส่วนผู้ที่ยังไม่เกษียณอาจต้องรับผิดชอบทั้งละเมิด คดีแพ่ง หรือคดีอาญาด้วยหรือไม่ ซึ่งวินัยร้ายแรงอาจถึงขั้นไล่ออก หรือปลดออกได้ อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายมีความละเอียดอ่อน กทม.จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

“คณะกรรมการฯ ก็จะต้องพิจารณาว่าใครต้องรับผิดชอบบ้างและรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค. 2561 แล้วเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม กทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกขั้นตอน แต่ขอเวลาศึกษารายละเอียด อีกทั้ง กทม. ก็อยากรับทราบความคิดเห็นของผู้ค้า หรือประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบตลาดด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของประชาชนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น ควรนำความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ยืนยันว่าจะไม่อุทธรณ์” นายวันชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น